รายงานผลการศึกษาเรื่อง Air Quality Assessments for Health and Environment Policies in Thailand

[Download รายงานฉบับเต็ม]

 
ในปี พ.ศ. 2560 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme  หรือ UNEP) ได้จัดทำโครงการการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษอากาศในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งได้คัดเลือกการศึกษาใน 3 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐมองโกเลีย และประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ด้วยผลงานวิจัยด้านมลพิษอากาศเป็นที่ประจักษ์ในศักยภาพและความเป็นเลิศทางวิชาการ  ในปี พ.ศ. 2560  UNEP ได้คัดเลือกให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา (EHT) โดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันหลัก คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการ “การประเมินคุณภาพอากาศเพื่อนโยบายด้านสุขภาพอนามัยและด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (Air Quality Assessments for Health and Environment Policies in Thailand)” เพื่อประเมินสถานการณ์และข้อมูลทางวิชาการประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่อง การจัดการคุณภาพอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานจัดทำ และปรับปรุงมาตรการและมาตรฐานด้านการจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย โดยเชื่อมโยงกับข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย เศรษฐกิจสังคมที่ทันสมัยเหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการ

การศึกษาของโครงการนี้ ประกอบด้วยข้อมูลมลพิษอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ ได้แก่ PM2.5 PM10 และโอโซน  (พ.ศ. 2557–2560) ในพื้นที่ศึกษา ได้แก่ สงขลา สระบุรี และ เชียงใหม่ และข้อมูลด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2555–2559) ที่นำมาศึกษา ได้แก่ ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่อำเภอที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษตั้งอยู่ โดยจำแนกตามบัญชีรหัสโรคที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems, 10th revision (ICD10) และทำการวิเคราะห์ผลกระทบของมลพิษอากาศต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ซึ่งมีหัวข้อการศึกษา ดังนี้

  1. ความเสี่ยงการเกิดโรคจาก PM2.5 PM10 และโอโซน มีผลต่อความเสี่ยงของการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งระบบโลหิตและระบบหายใจของประชากรทั้ง 3 จังหวัด โดยเฉพาะวัยเด็ก (อายุ 0-4 ปี) และ ผู้สูงวัย (55- 60 ปีขึ้นไป)
  2. การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาวะสุขภาพ การประเมินค่าใช้จ่ายในการลดมลพิษอากาศทั้ง 3 ชนิด ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกนั้นต้องเสียค่าใช้จ่าย 4,342,971,264 บาท และ 3,931,190,912 บาท สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสระบุรี ตามลำดับ  ส่วนจังหวัดสงขลามีค่ามลพิษอากาศตามข้อกำหนด
  3. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพ การควบคุม และลดการปลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด จัดทำข้อมูลที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและทันต่อเหตุการณ์ เพิ่มประสิทธิภาพของการของระบบการจัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

โดยได้จัดทำเป็นรายงานทางวิชาการให้แก่ UNEP เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ผลการศึกษาที่ได้นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานจัดทำและปรับปรุงมาตรการและมาตรฐานด้านการจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย นอกจากนี้ ได้มีการขยายขอบเขตความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนานโยบาย และส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยด้านสุขภาพอนามัย พิษวิทยา และสิ่งแวดล้อม ในเวทีนานาชาติต่อไปอีกด้วย

โครงการนี้จะเป็นการศึกษาที่เป็นตัวอย่างให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ซึ่งดำเนินการโดย UNEP ที่ครอบคลุมประเทศในภูมิภาคต่างๆ ในโลก นับเป็นความสำเร็จ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ศูนย์ได้รับการยอมรับในความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับนานาชาติและระดับสากล

—————————-