1. Chlorpyrifos และผลกระทบต่อระบบประสาทของเด็ก
เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มที่เปราะบางเพราะมีน้ำหนักตัวน้อย พัฒนาการของระบบต่างๆในร่างกายยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ การได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อมจึงมีผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่ US EPA ได้ประกาศให้มีการค่อยๆเลิกใช้ Chlorpyrifos ในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โดยตั้งต้นแต่ปี ค.ศ.2000-2001 และได้มีการศึกษาผลกระทบของมาตรการดังกล่าวในปี ค.ศ. 2003-2005 ในการรวบรวมข้อมูลจาก 50 ครัวเรือนซึ่งมีเด็กอายุ 3 ขวบ พบว่ามาตรการของ US EPA ได้ผล ทำให้เด็กได้รับสารกำจัดแมลงน้อยลง (Wilson et al., 2010) ในปี ค.ศ.2012 Rauh และคณะได้รายงานผลการวิจัยในวารสาร PNAS ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำของสหรัฐอเมริกา จากการศึกษาเด็ก 40 คน อายุระหว่าง 5.9-11.2 ปี ซึ่งมารดาได้รับสาร Chlorpyrifos ระหว่างตั้งครรภ์ โดยการตรวจวัดสารนี้ในเลือดจากรกมารดา โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับสารนี้สูง และได้รับขนาดต่ำ กลุ่มละ 20 คน การศึกษาลักษณะของสมองเด็ก โดยการใช้ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ผลงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสาร Chlorpyrifos ระหว่างมารดาตั้งครรภ์และพัฒนาการของสมองเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนของ Frontal parietal และ lateral temporal ซึ่งมีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการควบคุมด้านความจำและสติปัญญา งานวิจัยนี้ได้กระตุ้นให้มีการศึกษาผลกระทบต่อเด็กอย่างกว้างขวาง ในประเทศเกาหลีได้ศึกษาเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก 158 แห่ง ใน 6 เมือง โดยพิจารณาช่องทางการได้รับสารนี้ในอากาศ ในฝุ่นภายในห้อง และสรุปว่าเด็กได้รับสารนี้ทางการหายใจเข้าไป (Kim et al., 2013) สำหรับการศึกษาในประเทศไทย โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการตรวจวัดการได้รับสัมผัส โดยวัดจากปัสสาวะเด็ก 53 คน อายุระหว่าง 6-8 ปี โดยเด็ก 24 คนอาศัยอยู่ในบ้านบริเวณที่ปลูกข้าว และ 29 คนอยู่ในชุมชนเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งไม่ใช้ chlorpyrifos พบว่าในปัสสาวะจะมีสารเมตาโบไลท์ของสารนี้ในกลุ่มครอบครัวเกษตรกรปลูกข้าวมากกว่าเด็กในชุมชนซึ่งเลี้ยงสัตว์น้ำ (Rohitrattana et al., 2014) จากการศึกษาของคณะนักวิจัยกลุ่มนี้ร่วมกับนักวิจัยในสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาพฤติกรรมด้านระบบประสาท 3 ระยะ คือ ระยะเริ่มต้น ระยะที่มีการใช้สารนี้มาก และใช้สารนี้น้อย ในช่วงการทำนา โดยการวัดสาร TCPy ซึ่งเป็นเมตาโบไลท์ของ Chlorpyrifos พบว่าจะสูงกว่าเด็กที่อยู่ในชุมชนเลี้ยงกุ้ง ซึ่งไม่ใช้สารนี้ แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างช่วงการใช้สารนี้มากหรือน้อย ไม่พบพฤติกรรมด้านระบบประสาทที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่เนื่องจากจำนวนเด็กที่ศึกษามีน้อยและไม่สามารถศึกษาผลกระทบระยะยาวได้ คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่า ความผิดปกติบางอย่างที่พบ แม้จะไม่แตกต่างทางสถิติอย่างมี นัยยะสำคัญก็ไม่ควรเพิกเฉย (Fiedler et al., 2015) ในขณะเดียวกันมีรายงานการศึกษาในประเทศอังกฤษ โดยศึกษาการได้รับสารกำจัดแมลงในเกษตรกรและเด็กที่อาศัยอยู่ในรัศมี 100 เมตรของพื้นที่เกษตรกรรม โดยการวัดเมตาโบไลท์ของสาร Chlorpyrifos ที่ได้รับในปัสสาวะ จากการศึกษาพบว่าปริมาณของสารในปัสสาวะจะไม่แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ ในช่วงระยะการสเปรย์สารนี้หรือไม่มีการสเปรย์ คณะนักวิจัยสรุปว่าการได้รับ Chlrpyrifos น่าจะมีแหล่งกำเนิดอื่นนอกจากการได้รับจากการสเปรย์ (Galea et al., 2015) การศึกษาโดย Rauh และคณะ (2015) พบว่าจากการศึกษาเด็กในสหรัฐอเมริกา จำนวน 263 คน ซึ่งมารดาได้รับ Chlorpyrifos ระหว่างตั้งครรภ์พบว่าเด็กมีอาการสั่น (Tremor) ซึ่งเป็นสัญญาณของการได้รับอันตรายต่อระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ต่อมาในปี ค.ศ. 2017 Silver และคณะ ได้รายงานการศึกษาการได้รับ Chlorpyrifos ระหว่างการตั้งครรภ์ในประเทศจีน พบว่าทารกที่เกิดมาทำการศึกษาเมื่ออายุ 9 เดือน การพัฒนาการด้านพฤติกรรมการเคลื่อนไหวช้าลง และ Gunier et al. (2017) รายงานการศึกษาเด็กที่ได้รับ Chlorpyrifos ระหว่างมารดาตั้งครรภ์ 283 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตเกษตรกรรมของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย พบว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างระยะทางที่อยู่อาศัยกับพื้นที่เกษตรกรรม และพบการพัฒนาการของระบบประสาทของเด็กในกลุ่มที่ได้รับ Chlorpyrifos ช้าลง, Curtis และ Sattler (2018) ได้ลงบทความในวารสาร JAANP ซึ่งเป็นวารสารของสมาคม American Association for Nurse Practitioners ได้สรุปว่ามีข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสาร Chlorpyrifos และความเป็นพิษต่อการพัฒนาการของระบบประสาทของเด็ก โดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ บุคลากรทางการแพทย์ควรให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยในการหลีกเลี่ยงการได้รับสารกำจัดศัตรูพืชนี้ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาเกี่ยวกับสารคลอร์ไพริฟอสที่เกิดจากการฉีดพ่นในงานเกษตรกรรม พบว่าเกษตรกรได้รับคลอร์ไพริฟอสจากการหายใจสูงกว่าค่าระดับที่ปลอดภัยได้ (Hazard quotient >1) หญิงตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมเมื่อคลอดบุตรตรวจพบคลอร์ไพริฟอสในขี้เทาทารกแรกเกิดเป็น 32.8% จากมารดา 67 คน ทั้งยังพบคลอร์ไพริฟอสในน้ำนมมารดา 41.2% จากมารดา 51 คน และมีทารก 4.8% ที่ได้รับคลอร์ไพริฟอสจากน้ำนมมารดาเกินค่า ADI 2. Chlorpyrifos – Animal and In vitro Studies จากการศึกษาทางระบาดวิทยาของ Chlorpyrifos ที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็กเมื่อมารดาได้รับสารนี้ระหว่างตั้งครรภ์ แม้ว่าการศึกษาส่วนใหญ่จะพบว่ามีความสัมพันธ์กัน แต่การศึกษาเฉพาะการวัดดัชนีการได้รับสัมผัสจากการวัดสารเมตาโบไลท์ของ Chlorpyrifos ในปัสสาวะไม่เป็นการเพียงพอ เพราะบอกได้ว่ามีการได้รับสาร Chlorpyrifos จำเป็นต้องศึกษาหากลไกการออกฤทธิ์ และตำแหน่งการออกฤทธิ์มาประกอบ ทั้งในสัตว์ทดลองและในหลอดทดลอง ระดับเซลล์และยีนส์ เพื่อนำมาอธิบายกลไกการเกิดความเป็นพิษในเด็ก มีรายงานวิจัยจำนวนมากในช่วง 5 ปีที่ศึกษาความเป็นพิษต่อระบบต่างๆของสัตว์ทดลอง 2.1 ระบบประสาท การทำงานที่ผิดปกติของไมโตรคอนเดรียซึ่งอยู่ภายในเซลล์ มีหน้าที่สร้างพลังงานจะมีผลต่อการควบคุมสมดุลของประจุต่างๆภายในเซลล์ ซึ่งทำงานโดยอาศัยปั๊มที่ต้องการพลังงาน ทำให้ควบคุมไม่ได้, Basha และ Poojary (2014) รายงานผลการทดลองว่า Chlorpyrifos และสภาวะอุณหภูมิต่ำ 15-20°C ทำให้ไมโตรคอนเดรียทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดความเสื่อมของระบบประสาทและสูญเสียการควบคุมเมตาบอลิซึมของเซลล์ประสาท บริเวณที่เกิดความเสียหายมากคือบริเวณ Cerebellum ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวและ Medulla oblongata ซึ่งควบคุมระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจ, Eriksson และคณะ (2015) รายงานว่าความเป็นพิษต่อการพัฒนาการของระบบประสาทของ Chlorpyrifos ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Acetylcholinesterase เพียงอย่างเดียว สาร Chlorpyrifos ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม Organophosphate มีการศึกษาความเป็นพิษอย่างมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับการพัฒนาของระบบประสาทในสัตว์ทดลอง โดยเฉพาะ Chlorpyrifos จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวและการจดจำของสัตว์ del Pino และคณะ (2015) พบว่าการได้รับ Chlorpyrifos ทั้งระยะเฉียบพลันและเรื้อรังจะทำให้เกิดการตายของเซลล์ที่บริเวณ basal forebrain ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับการเรียนรู้และความจำ โดยการขัดขวางสารสื่อประสาทโคลิเนอร์จิคและทำให้เซลล์ตาย, López-Granero และคณะ (2016) ศึกษาการได้รับ Chlorpyrifos ในหนูเป็นเวลา 6 เดือน จะพบว่าเกิดการสูญเสียความทรงจำเกี่ยวกับระยะทาง, สถานที่และสิ่งแวดล้อมของสัตว์ทดลอง, Lee และคณะ (2016) พบว่าการได้รับ Chlorpyrifos ซึ่งเป็นสารพิษต่อระบบประสาทจะทำให้สมองบริเวณ Hippocampus ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความจำ ในขนาดที่ไม่ทำให้เกิดความผิดปกติอย่างมากของระบบ Cholinergic เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังติดต่อกัน 21 วัน จะพบการแสดงออกของยีนส์ (Gene expression) มีการเปลี่ยนแปลงไปที่บริเวณ Hippocampus ในขณะเดียวกัน Peris-Sampedro และคณะ (2016) ศึกษาผลกระทบของ Chlorpyrifos ต่อ Apolipoprotein E (ApoE) genes ชนิดต่างๆพบว่า Chlorpyrifos จะรบกวนสมาธิ (Sustained attention) และแรงจูงใจ (Motivation) ของหนูที่มี ApoE3, Gao และคณะ (2017) พบว่า Chlorpyrifos จะรบกวนการขนส่งชิ้นส่วนขนาดเล็กของเซลล์ (Organelles) บริเวณสมองส่วนหน้า (Cortex) ในการขนส่งโมเลกุลของสายประสาท (Axonal transport) ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำหน้าที่อย่างปกติของเซลล์ประสาท การค้นพบนี้มีความสำคัญเพราะจะอธิบายกลไกความเป็นพิษต่อเส้นประสาท (Axonopathy) ได้ Lan และคณะ (2017) ศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการได้รับ Chlorpyrifos ระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้เกิดอาการคล้าย Autism ในสัตว์ที่คลอดออกมา Chlorpyrifos จะทำให้พฤติกรรมสังคมและพฤติกรรมชอบสำรวจสิ่งรอบตัวของสัตว์บกพร่องไป, Dominah และคณะ (2017) พบว่าการได้รับ Chlorpyrifos แบบเฉียบพลันจะทำให้เกิดความเครียด (Oxidative stress) และเป็นพิษต่อเซลล์ประสาทบริเวณ Striatum ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย นอกจากนั้น Deveci และ Karapehlivan (2018) ยังพบ Chlorpyrifos ทำให้เกิดอาการคล้าย Parkinson’s disease ในสัตว์ทดลอง Laporte และคณะ (2018) พบว่าเมื่อให้ Chlorpyrifos แก่สัตว์ตั้งครรภ์จะเป็นพิษต่อการพัฒนาของระบบประสาท (Developmental neurotoxicity) จะเห็นว่ามีการศึกษาจำนวนมากในสัตว์ทดลอง ซึ่งสนับสนุนรายงานของ Rauh และคณะ (2012) ที่ศึกษาด้วย MRI พบความผิดปกติของสมองเด็กที่ได้รับ Chlorpyrifos Chlorpyrifos นอกจากจะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทแล้ว มีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าสารนี้เกี่ยวข้องกับยีนส์ซึ่งสร้าง Apolipoprotein (ApoE) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลายชนิด งานวิจัยของ Guardia-Escote และคณะ (2018) มุ่งศึกษาผลกระทบระยะยาวของการได้รับสารนี้หลังคลอดต่อการเรียนรู้ ความจำ และการแสดงออกของยีนส์หลายชนิด ในการสื่อสัญญาณประสาทโคลิเนอร์จิก พบว่าผลของสารนี้ขึ้นอยู่กับเพศและชนิดของการแสดงออกของ ApoE ยีนส์ โดยพบว่าเพศชายจะมีผลต่อความทรงจำสิ่งแวดล้อมสถานที่ เพศหญิงจะมีการเปลี่ยนการแสดงออกของตัวรับนิโคติน 2.2 Immunotoxicity ผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันจากการได้รับสารเคมีในสิ่งแวดล้อมเป็นที่สนใจของนักวิจัยมาก โดยเฉพาะการได้รับสารกำจัดศัตรูพืช Noworyta-Głowacka และคณะ ในปี ค.ศ. 2014 ได้ศึกษาผลกระทบของ Chlorpyrifos ซึ่งมีการใช้กันมากในประเทศโปแลนด์ เพื่อดูผลกระทบต่อเซลล์ชนิดต่างๆในระบบภูมิคุ้มกัน โดยศึกษาในหนูที่ได้รับ Chlorpyrifos 3 ขนาดเป็นเวลา 90 วัน พบว่าปริมาณของเม็ดเลือดขาวมีการเปลี่ยนแปลงไปจากกลุ่มควบคุม ทั้งด้านการเพิ่มขึ้นและลดลง Wang และคณะ ในปี ค.ศ. 2018 สรุปผลจากการศึกษา โดยให้ข้อเสนอแนะว่า Chlorpyrifos อาจจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งจะทำให้ความต้านทานต่อเชื้อโรคลดน้อยลง Aroonvilairat และคณะ (2018) ได้รายงานผลการศึกษาจากการได้รับสาร Chlorpyrifos (สารฆ่าแมลง) Cypermethrin (สารฆ่าแมลง) และ Captany (สารฆ่าเชื้อรา) ผสมกัน โดยผ่านทางผิวหนังของหนู สารทั้ง 3 ชนิดนี้ มีการใช้ร่วมกันในสวนปลูกกล้วยไม้ในประเทศไทย พบว่าเมื่อสารทั้ง 3 ชนิดผสมกันในขนาดต่ำ ปานกลาง และสูง จะมีความเป็นพิษต่อระบบเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน 2.3 Cancer Suriyo และคณะ (2015) ได้ทำการทดลองในเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด H508 พบว่า Chlorpyrifos กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชนิดนี้ ผ่านเส้นทางสัญญาณ EGFR/ERK1/2 และในปี ค.ศ.2018 Ventura และคณะ เสนอรายงานว่า Chlorpyrifos อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ 2.4 Genotoxicity ในเร็วๆนี้มีรายงานเกี่ยวกับ Chlorpyrifos และความเป็นพิษต่อ gene (Genotoxicity) Muller และคณะ (2014) พบว่านอกจาก Chlorpyrifos จะทำให้การทำงานของระบบประสาทของสัตว์ทดลองผิดปกติแล้ว ยังเกิดการทำให้ DNA เสียหายอีกด้วย Li และคณะ (2015) พบว่า Chlorpyrifos จับกับ DNA ทำให้เกิด DNA-adducts เพิ่มขึ้น ทำให้นักวิจัยกังวลว่าสารนี้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิด Genotoxicity ในคน Ezzi และคณะ (2016) ศึกษา Genotoxic Effect ของ Chlorpyrifos ในสัตว์ทดลอง โดยใช้ comet assay และพบว่า Chlorpyrifos มีศักยภาพเป็น Genotoxic agent ในขณะเดียวกัน Ropjar และคณะ (2018) ทำการศึกษาความเป็นพิษของ Chlorpyrifos ในสัตว์ทดลองพบว่าสารนี้เป็น Genotoxic agent อย่างอ่อนต่อเม็ดเลือดขาวและเซลล์ประสาท คณะนักวิจัยแนะนำว่าจากการค้นพบนี้ควรจะมีการศึกษาตอไป เพื่อหาดัชนีชีวภาพของการเกิดอาการผิดปกติ โดยทำการศึกษาในขนาดและระยะเวลาได้รับที่ต่างๆกัน 2.5 ระบบอื่นๆ การศึกษาของคณะนักวิจัยต่อระบบอื่นๆในสัตว์ทดลองที่ยังไม่ได้กล่าวถึงคือ ความเป็นพิษต่อตับและไต (Deng et al., 2016) ผลต่อระบบประสาท-ฮอร์โมน (Neuroendocrine) Chlorpyrifos ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน (Endocrine disruptor) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเต้านมและการไม่สมดุลของฮอร์โมน (Ventura et al., 2016) นอกจากนั้นพบว่าสารนี้มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ทดลอง (Sai et al., 2013) และการได้รับ Chlorpyrifos ทำให้การตอบสนองของหลอดลมต่อการกระตุ้นโดยประสาท Vagus เพิ่มขึ้นอย่างมาก (Venerosi et al., 2015) ซึ่งอาจขัดขวางการขยายตัวของหลอดลมได้ สรุป ผลการศึกษาระหว่าง 2012-2018
เอกสารอ้างอิง Children
Neurotoxicity
Immunotoxicity
Cancer and Genotoxicity
ระบบอื่นๆ
——————————–
|