ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการกระจายของพืชและการเก็บกักคาร์บอนในภาคเหนือของประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ วังภคพัฒนวงศ์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและศึกษาผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ต่อ 1) ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชในป่าผลัดใบ และป่าไม่ผลัดใบบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และ พื้นที่รอยต่อระหว่างป่าดังกล่าว พบว่าป่าเต็งรังพบพรรณไม้ทั้งหมด 100 ชนิด ใน 71 สกุล 44 วงศ์ พรรณไม้ที่มีดัชนีความสำคัญทางนิเวศวิทยามากที่สุด คือ พลวง สำหรับดัชนีความหลากหลายของชนิดพรรณไม้ในป่าเต็งรังมีค่า 4.19 มวลชีวภาพทั้งหมดในป่าเต็งรังมีปริมาณ 112.88 ตันต่อเฮกแตร์ และมีการสะสมคาร์บอนในมวลชีวภาพ 55.76 ตันต่อเฮกแตร์ ป่าดิบเขาพบพรรณไม้ทั้งหมด 188 ชนิด ใน 124 สกุล 57 วงศ์ และพรรณไม้ที่ไม่สามารถจำแนกได้ 23 ชนิด พรรณไม้ที่มีดัชนีความสำคัญทางนิเวศวิทยามากที่สุด คือ ก่อหมาก สำหรับดัชนีความหลากหลายของชนิดพรรณไม้ในป่าดิบเขามีค่า 5.75 มวลชีวภาพในป่าดิบเขามีปริมาณ 291.82 ตันต่อเฮกแตร์ และมีการสะสมคาร์บอนในมวลชีวภาพ 144.22 ตันต่อเฮกแตร์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีปริมาณคาร์บอนสะสมในมวลชีวภาพของป่าผลัดใบประมาณ 1,161,427 ตัน สำหรับป่าไม่ผลัดใบมีประมาณ 722,328 ตัน รวมแล้วพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมดมีปริมาณคาร์บอนสะสมในมวลชีวภาพประมาณ 1,883,755 ตัน 2) การกระจายพันธุ์มะเดื่อ (Ficus) ตามระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล พบพืชสกุลมะเดื่อเจริญและแพร่กระจายพันธุ์ อยู่ 33 ชนิด มีค่าดัชนีความหลากหลาย Shannon-Wiener’s เท่ากับ 2.15 ค่าดัชนีความหลากหลาย Simpson เท่ากับ 0.78 และค่าความสม่ำเสมอ เท่ากับ 0.61 และ 3) การเก็บกักคาร์บอนของพืชและดินในป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟู พบว่าแนวโน้มของการเพิ่มปริมาณเศษซากพืชตามอายุของ แปลงปลูกยกเว้นแปลงที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดไฟป่า ส่วนการศึกษาอัตราการย่อยสลายพบว่าใบพืชที่มีอัตราส่วนของคาร์บอนต่อไนโตรเจนที่ต่ำกว่าซึ่งในที่นี่ได้แก่ ใบทองหลางป่าและใบมะเดื่อน้อย จึงมีอัตราการย่อยสลายที่รวดเร็วกว่า อีกทั้งโครงสร้างของใบและลักษณะของเส้นใยก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยในการย่อยสลายได้เช่นเดียวกัน ส่วนปริมาณคาร์บอนในดิน พบว่าการสะสมอินทรีย์วัตถุ ในดินมีปริมาณมากในดินชั้นบน ส่วนปริมาณคาร์บอนที่สะสมในดินสูงในแปลงที่มีอายุไม่มากนัก คือ แปลงอายุ 9 ปี ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น การสะสมของอินทรีย์วัตถุ ประวัติการใช้ที่ดิน เป็นต้น การวิจัยครั้งนี้ใช้เวลา 1 ปี ดังนั้น ผลการวิจัยจึงยังไม่สามารถระบุถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อพืชได้ โดยข้อมูลที่ได้นี้สามารถใช้เป็นข้อมูลเริ่มต้นในการวิเคราะห์ ผลกระทบดังกล่าวได้ในอนาคต

แหล่งข้อมูล:

  • โครงการวิจัยชื่อ “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการกระจายของพืชและการเก็บกักคาร์บอนในภาคเหนือของประเทศไทย (Climate-Change Impacts on Distribution of Plants and Their Carbon Sequestration Potentials in Northern Thailand) – ระยะเวลาโครงการ: ธันวาคม 2553 – ธันวาคม 2554