สภาวะโลกร้อนและอุบัติการณ์ของแบคทีเรียในหาดบางแสนและพัทยา จังหวัดชลบุรี

รองศาสตราจารย์ ดร.สุบัณฑิต นิ่มรัตน์
โครงการบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การศึกษาในครั้งนี้ได้ทำการศึกษาผลของสภาวะโลกร้อนต่ออุบัติการณ์ของแบคทีเรียในหาดบางแสนและพัทยา จังหวัดชลบุรี จำนวน 8 บริเวณ ได้แก่ ตลาดอ่างศิลา ท่าเรืออ่างศิลา หาดบางแสน หาดวอนนภา นาเกลือ พัทยาเหนือ พัทยาใต้และนาจอมเทียน ระหว่างเดือนมีนาคมถึงธันวาคม พ.ศ. 2554 จากการศึกษาพบว่าอุณหภูมิของน้ำทะเล บริเวณบางแสนและพัทยาทั้ง 8 บริเวณมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง 25.00 ± 0.00 ถึง 34.90 ± 0.00 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบอุณหภูมิน้ำทะเล ณ บริเวณบางแสนและพัทยา จังหวัดชลบุรี ของกรมควบคุมมลพิษตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ถึง 2554 ของทั้ง 8 บริเวณเทียบกับการศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าในเดือนมีนาคมถึงเมษายน ณ ปัจจุบัน น้ำทะเลมีอุณหภูมิที่ต่ำลง แต่ในช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนน้ำทะเลมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่วนเดือนสิงหาคมและตุลาคมมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิทั้งที่เพิ่มขึ้นและลดลงของบริเวณเก็บตัวอย่างทั้ง 8 บริเวณ นั่นแสดงให้เห็นว่าเกิดความแปรปรวนของอุณหภูมิของน้ำทะเลทั้งในฤดูร้อนที่มีอากาศเย็นขึ้น แต่ในช่วงฤดูฝนเกิดสภาวะโลกร้อนขึ้น อุณหภูมิของน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับ การเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียวงศ์ Vibrionaceae และ Ferrimonadaceae ในบางบริเวณ คือ อุณหภูมิมีความสัมพันธ์กับแบคทีเรียกลุ่มนี้ในน้ำทะเลบริเวณหาดวอนนภาและพัทยาใต้ และในดินตะกอนบริเวณพัทยาเหนือและพัทยาใต้ และส่วนใหญ่ไม่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียทางทะเลทั้งในดินตะกอนและน้ำทะเล บริเวณบางแสนและพัทยา ยกเว้นหาดวอนนภาเพียงจุดเดียวที่อุณหภูมิมีความสัมพันธ์กับปริมาณแบคทีเรียทางทะเลในน้ำทะเล แต่อย่างไรก็ตามอุณหภูมิไม่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียกลุ่ม Enterobacteriaceae ทั้งในดินตะกอนและน้ำทะเล บริเวณบางแสนและพัทยาทุกบริเวณที่ศึกษา จากการคัดแยกแบคทีเรียกลุ่มที่เพาะเลี้ยงได้ในดินตะกอนและน้ำทะเลพบว่าเป็นแบคทีเรียไฟลัม Gammaproteobacteria ได้แก่ Enterobacteriaceae, Pseudomonadaceae และ Vibrionaceae และไฟลัม Firmicutes (Bacillus sp.) ส่วนแบคทีเรียกลุ่มที่เพาะเลี้ยงไม่ได้ในดินตะกอนและน้ำทะเลพบว่า แบคทีเรียส่วนใหญ่จัดอยู่ในไฟลัม Proteobacteria ได้แก่ คลาส Alphaproteobacteria, Betaproteobacteria, Gammaproteobacteria และ Deltaproteobacteria นอกจากนี้ยังพบแบคทีเรียในไฟลัมอื่นในปริมาณน้อย ได้แก่ ไฟลัม Cyanobacteria, Bacteroidetes, Firmicutes, Acidobacteria และ Actinobacteria เมื่อเปรียบเทียบชนิดของแบคทีเรียกลุ่มที่เพาะเลี้ยงได้และกลุ่มที่เพาะเลี้ยงไม่ได้พบว่าแบคทีเรียกลุ่มที่เพาะเลี้ยงไม่ได้มีความหลากหลายมากกว่า แบคทีเรียที่เพาะเลี้ยงได้ โดยพบแบคทีเรียก่อโรคต่อมนุษย์ที่สำคัญ คือ Klebsiella pneumoniae, Shigella sp., S. flexneri, Vibrio parahaemolyticus, Salmonella และ Pseudomonas fluorescens แบคทีเรียก่อโรคต่อสัตว์น้ำ ได้แก่ V. owensii, V. sinaloensis และ V. harveyi รวมทั้ง V. parahaemolyticus และ P. Fluorescens

แหล่งข้อมูล:

  • โครงการวิจัยชื่อ “สภาวะโลกร้อนและอุบัติการณ์ของแบคทีเรียในหาดบางแสนและพัทยา จังหวัดชลบุรี” – ระยะเวลาโครงการ: มกราคม 2554 – พฤษภาคม 2555