หมอกควันภาคเหนือ : ปัญหาที่ยังรอการแก้ไข

รองศาสตราจารย์ ดร.มงคล รายะนาคร
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สภาพปัญหามลพิษและหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่

สถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือของประเทศไทย ได้เป็นข่าวไปทั่วโลกในเดือนมีนาคม 2550 เมื่อมีหมอกควันปกคลุมในหลายพื้นที่ ในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และในวันที่มีหมอกควันปกคลุมพื้นที่ ในจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอนหรือพีเอ็ม 10 (PM10) ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ณ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ได้ถึง 383 ไมโครกรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศ ของประเทศไทยที่กำหนดไว้ ที่ค่าเฉลี่ยในช่วง 24 ชั่วโมง ไว้ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรไปกว่า 3 เท่าตัว นับเป็นสถิติสูงสุดของประเทศไทยเท่าที่ได้มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างเป็นทางการ เฉพาะในช่วงวันที่ 15–23 มีนาคม 2550 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานจำนวนประชาชนในภาคเหนือในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงราย แพร่ และน่าน ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากภาวะหมอกควันในช่วงนั้นถึงเกือบหกหมื่นคน แม้ว่า จังหวัดเชียงใหม่ มิได้มีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพในช่วงนั้นมากที่สุด เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีนักวิชาการสื่อมวลชนและส่วนราชการที่คอยให้ข้อมูลข่าวสาร เตือนให้ประชาชนเตรียมตัวป้องกันตนเองเป็นระยะๆ แต่เมื่อพิจารณาผลกระทบทางด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวแล้ว จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งแต่ละปีมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดในภาคเหนือ ถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด

หมอกควันในภาคเหนือมีที่มาจากหลายแหล่ง ที่สำคัญก็คือ ไฟป่า การเผาในที่โล่ง และ มลพิษจากการใช้ยวดยานพาหนะ โครงการวิจัยการวิเคราะห์สภาพอากาศและเฝ้าระวังการเกิดมลภาวะอากาศ โดย เจียมใจ เครือสุวรรณและคณะ (2551) พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแหล่งกำเนิดจากไฟป่า และการเผาพื้นที่การเกษตรประมาณร้อยละ 50-70 จากเครื่องยนต์ดีเซลประมาณร้อยละ 10 โดยส่วนที่เหลือเป็นการพัดพาจากแหล่งกำเนิดภายนอกจังหวัดเชียงใหม่ อุตสาหกรรมครัวเรือนและฝุ่นละอองจากถนน หมอกควันในภาคเหนือ มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวก่อนเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพอากาศนิ่ง เนื่องจากความกดอากาศสูง ทำให้ฝุ่นละเอียดขนาดเล็กไม่ถูกพัดพาขึ้นสู่บรรยากาศระดับสูงได้ แต่จะวนเวียนอยู่ในระดับที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำให้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสุขภาพ มิได้เป็นเพียงการระคายเคืองต่อสายตาเท่านั้น แต่จะเป็นเรื่องโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจที่มักจะนำไปสู่การเป็นมะเร็งในปอด ซึ่งภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีสถิติผู้เป็นโรคนี้จนถึงขั้นเสียชีวิตมากที่สุด

องค์ความรู้ ที่มา แ ละผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก ปัญหาหมอกควัน และ มลพิษทางอากาศ

หมอกควัน จัดได้ว่าเป็นมลพิษทางอากาศที่สำคัญของภาคเหนือ เป็นผลผลิตของกระบวนการเผาไหม้ หรือ สันดาป ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นต้นกำเนิดของสารมลพิษทางอากาศที่ฝังตัวอยู่ กับอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เมื่อเข้าไปในปอดแล้วไม่สามารถขับออกมาได้ สารมลพิษกลุ่มที่มีจำนวนชนิดมากที่สุด เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีชื่อว่า พอลิไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ที่มักเรียกชื่อว่า พีเอเอช หรือ พาห์ (PAH) ซึ่งมีสารสมาชิกไม่น้อยกว่าสิบชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง และแทบทุกชนิดเป็นสารที่คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานไม่สลายตัวได้ง่าย

ผลกระทบทางด้านสุขภาพ

คณะผู้วิจัยหลายคณะได้ศึกษาวิจัยในเรื่องผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่มีต่อสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน อาทิเช่นโครงการวิจัยโดย พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช และคณะ (2550) พบความสัมพันธ์ระหว่างระดับรายวันของฝุ่นในอากาศกับอาการของโรคหอบหืด โครงการวิจัยโดย อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ และคณะ (2550) พบความสามารถของสารมลพิษจากฝุ่นขนาดเล็ก ในการทำลายดีเอนเอของเซลล์ถุงลมปอด และโครงการวิจัยโดย ทิพวรรณ ประภามณฑล และคณะ (2550) พบสารมลพิษทางอากาศ ที่ตกค้างอยู่ในระบบร่างกายของคนในรูปของ สารเมตาบอไลต์ นอกจากนี้ มงคล รายะนาครและคณะ (2550) ยังได้วิเคราะห์พบสารมลพิษทางอากาศในอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กทั้งที่เป็นสารโลหะหนักและสารอินทรีย์ประเภทพีเอเอช หรือ พาห์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งหลายชนิด

ผลกระทบทางด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศโดยทั่วไป ได้แก่ การรู้สึกระคายเคืองหรือแสบตา ภาวะการหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นโรคหอบหืดมีความเสี่ยงที่จะมีอาการทรุดหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากขีดความสามารถในการทำงานของปอดลดลงอย่างรวดเร็วและแม้ว่าอาจจะไม่เสียชีวิตด้วยโรคหอบหืดแต่ในระยะยาวมักจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด

ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

มลพิษทางอากาศนอกจากจะมีผลกระทบทางด้านสุขภาพอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้ว ยังมีผลทำให้ผู้ที่เจ็บป่วย อันเนื่องจากภาวะหมอกควันหรือมลพิษทางอากาศ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ขาดรายได้ จากการหยุดงาน ผลกระทบของมลพิษทางอากาศโดย เฉพาะปีที่มีหมอกควันมากกว่าปกติมีส่วนทำให้รายได้เข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวลดลงอย่างกะทันหันได้ สมาคมธุรกิจ ท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ได้เคยประมาณการว่า ในปัจจุบันมีคนทั่วโลกท่องเที่ยวต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 900 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้มาท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคนโดยมาท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่เฉลี่ยปีละ 1.7 ล้านคน นำรายได้เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณปีละ 40,000 ล้านบาท ช่วงใดที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ หากจำนวนผู้มาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ลดลงก็จะส่งผลถึงรายได้ที่ลดลงและภาวะการว่างงานของประชาชนจำนวนมากได้ (คำบรรยายของ นายวรพงศ์ หมู่ชาวใต้ เลขาธิการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวไทย ในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 2553-2562, วันที่ 14 สิงหาคม 2552 ณ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ผลกระทบทางด้าน อื่นๆ

ปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะจากหมอกควัน ทำให้โครงการพำนักระยะยาวของจังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบที่ยาวนาน โดยที่ไม่อาจจัดทำการประชาสัมพันธ์มาทดแทนได้ นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้งบประมาณต่างๆ ที่สมควรมาจัดสรร เพื่อการพัฒนาจังหวัดในด้านอื่นๆ ต้องถูกปรับมาใช้เพื่อการป้องกันแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศปัญหาหมอกควัน จึงมีส่วนทำให้การกำหนดงบประมาณ สำหรับยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และยุทธศาสตร์การประหยัดพลังงานและใช้พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ต่อการพัฒนาจังหวัดในภาพรวม ถูกจำกัดกรอบการพัฒนาเพื่อสังคมเชียงใหม่ในอนาคตไปอย่างน่าเสียดาย ภาพลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบของเมืองในหมอกควันอาจจะเป็นภาพที่ปีหนึ่งมีไม่กี่ครั้งแต่ก็เป็นภาพที่หลอกหลอน สำหรับผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเชียงใหม่นานพอ และเป็นภาพที่ยากที่จะลบออกไปจากความทรงจำของผู้มาเยือนที่ได้มาประสบกับภาวการณ์ดังกล่าวด้วยตนเองพอดี หรือแม้กระทั่งผู้ที่ได้เห็นภาพเชียงใหม่ เมืองในหมอกควันทางโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ ในขณะเดียวกัน สถานการณ์มลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากหมอกควันก็มีส่วนทำให้สังคมชาวเชียงใหม่ มีความซับซ้อนเปราะบางมากขึ้น แม้ว่าจะทำให้เกิดกลุ่มนักวิชาการที่ตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศ ที่พยายามส่งสัญญาณให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชนเร่งร่วมมือกัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาและมีกลุ่มที่รณรงค์ไม่ให้ปัญหาหมอกควันเกิดขึ้น โดยเน้นการยุติการเผาในที่โล่ง แต่ปัญหาหมอกควันก็ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่ม ตามวิธีการคิดหรือปฏิบัติ ได้แก่ กลุ่มที่ต่อต้านการเผาในที่โล่ง กลุ่มที่สนับสนุนการเผาแบบชิงเผาหรือเผาตามกำหนด กลุ่มที่ต้องการดำรงวิถีชีวิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ยังเผาวัสดุการเกษตรต่อไปอยู่ กลุ่มที่สนับสนุนการแปลงวัสดุการเกษตรให้เป็นปุ๋ย และกลุ่มที่แสวงหาทางเลือกอื่นๆ นอกจากนี้ ในเวทีการประชุม สัมมนา เกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศจากหมอกควัน ก็มักจะมีผู้นำท้องถิ่น พาดพิงถึงกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวโดยตรง แต่ยังไม่ได้มีส่วน ร่วมกับกลุ่มต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ประเด็นนโยบายสาธารณะและแนวทางป้องกัน แก้ไข

มลพิษทางอากาศไม่ว่าเกิดจากหมอกควันหรือจากสาเหตุใดก็ตาม เป็นภาวะที่ไม่มีพรมแดนและการแก้ไขปัญหาไม่สามารถจำกัดวงลงเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอย่างโดดๆได้ การป้องกัน แก้ไข ในกรณีของจังหวัดเชียงใหม่เพื่อลดระดับของปัญหามลพิษทางอากาศ นอกจากจะต้องดำเนินการอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ ภายในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ยังจะต้องได้รับอานิสงส์จากมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากหมอกควันของพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ทั้งนี้การเคลื่อนตัวของหมอกควันขนาดใหญ่ อย่างในกรณีไฟป่าในหน้าแล้งของประเทศอินโดนีเซีย ปรากฏว่ามีผลกระทบไปไกลถึงประเทศสิงคโปร์ มาเลเซียและภาคใต้ของประเทศไทยมาแล้ว ซึ่งการเคลื่อนตัวของหมอกควันในระยะที่เกิน 100 กิโลเมตรในแนวราบ เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นได้ไม่ยาก

สำหรับปัญหามลพิษทางอากาศในภาคเหนือของประเทศไทย เท่าที่ผ่านมามีการระดมทรัพยากร มาลงที่จังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด ดังจะเห็นได้จากการที่กรมควบคุมมลพิษได้มาติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศหลักอยู่ภายจังหวัดเชียงใหม่ 2 แห่ง คือ สถานีตรวจวัดที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย 1 สถานี และ ที่ศูนย์ราชการจังหวัด ที่อำเภอแม่ริม อีก 1 สถานี นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กที่พระตำหนักภูพิงค์ราช นิเวศน์บนดอยสุเทพอีก 1 ชุด

ในด้านวิชาการเกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศนั้น จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ตั้งอยู่ภายในจังหวัดโดยเฉพาะกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางจังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ร่วมลงนามกับอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประเด็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญ ซึ่งได้มีความพยายามร่วมกันจากหลายๆ ฝ่ายในการลดปัญหามลพิษทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ ก็คือ การสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ และร่วมกันแก้ไขปัญหาและการแสวงหากลไก เพื่อลดการเผาในที่โล่ง ทั้งนี้เพื่อให้มลพิษทางอากาศที่วัดในรูปของปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก อยู่ในระดับที่ไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทย ที่กำหนดไว้ที่ 120 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร เป็นอย่างน้อยสำหรับค่าเฉลี่ยในการตรวจวัด รอบ 24 ชั่วโมง (ซึ่งก็ยังเป็นค่ามาตรฐานที่สูงกว่าของมลรัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศ ต่างๆ ในยุโรปซึ่งกำหนดไว้ ที่ 50 ไมโครกรัม ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร)

แหล่งที่มา:

  • มงคล รายะนาคร. 2553. หมอกควันและมลพิษทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่. เอกสารวิชาการ: ชุดความรู้นโยบายสาธารณะ สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).
  • เจียมใจ เครือสุวรรณ ชาคริต โชติอมรศักดิ์ ภาคภูมิ รัตน์จิรานุกูล และ อรวรรณ วิรัลห์เวชยันต์(2551) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์: “โครงการการวิเคราะห์สภาพอากาศและการเฝ้าระวังการเกิดมลภาวะอากาศ” , ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  • ทิพวรรณ ประภามณฑล รัตนา ทรัพย์บำเรอ สมพร จันทระ และไพสิฐ พาณิชย์กุล(2550) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์: “การจัดลำดับความสำคัญการวิจัยด้านคุณภาพอากาศในการเขตภาคเหนือตอนบน”, ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์).
  • พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช มุทิตา ตระกูลทิวากร เฉลิม ลิ่วศรีสกุล สุวรัตน์ ยิบมันตะสิริ และนิมิต อินปั๋นแก้ว (2550) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์: “โครงการการศึกษาระดับรายวันของฝุ่นในอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดภายในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน”, ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
  • มงคล รายะนาคร สมพร จันทระ สุนันทา วังกานต์ อุไร เต็งเจริญกุล พิสัณห์ กิจสวัสดิ์ไพบูลย์ พรชัย จันตา อิงอร ชัยศรี วัลยา แสงจันทร์ และดุจเดือน แสงบุญ (2550) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์: “โครงการการวิเคราะห์เพื่อหามลพาทางอากาศในอนุภาคฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน”, ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
  • อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ ธีระ ชีโวนรินทร์ และ ณรงค์พันธ์ ฉุนรัมย์ (2550) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์: “โครงการการทำลายดีเอนเอของเซลล์ถูงลมปอดจากการออกซิไกส์ด้วยสารสกัดจากฝุ่นขนาดเล็ก พีเอ็ม2.5 และพีเอ็ม 10 ในอากาศเชียงใหม่และลำพูน”, ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)