การทำความสะอาดหลังน้ำลดมักเป็นการทำความสะอาดคราบสกปรก ตะไคร่น้ำ และการกำจัดเชื้อโรค เชื้อราที่เราอาจมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ การป้องกันตนเองของผู้ทำความสะอาด
อุปกรณ์ป้องกันตนเองเบื้องต้นที่ควรจัดเตรียม ได้แก่ แว่นตาป้องกัน หน้ากากกรองฝุ่น ผ้าปิดปาก ถุงมือยาง รองเท้าบูท ไฟฉาย ไม้ยาว เกรียง พลั่ว ไม้ปาดน้ำ
ขั้นตอนการเตรียมพร้อมก่อนเริ่มทำความสะอาด
- จับคู่ช่วยกันทำความสะอาด เพื่อการช่วยเหลือหากเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายจากสัตว์มีพิษ
- เดินสำรวจพื้นที่รอบๆ ก่อนลงมือปฏิบัติ เพื่อประมาณระยะเวลา อุปกรณ์
- เปิดประตู หน้าต่างระบายอากาศ
- สังเกตุความผิดปกติ เช่น รอยร้าว โพรง รอยรั่ว การไหลของน้ำจากการทำความสะอาด สวิทช์ไฟ คราบเชื้อรา
- วางแผนเคลื่อนย้ายสิ่งของเพื่อความสะดวกในการทำงาน
สิ่งของต่างๆ ที่ต้องจัดการหลังน้ำลด
- ระบบไฟฟ้า
- ก่อนเข้าบริเวณบ้าน ต้องแน่ใจว่าได้ตัดไฟส่วนของชั้นล่างทั้งหมดออกแล้ว เนื่องจากไม่อาจทราบได้ว่า จะมีไฟรั่วบริเวณใดบ้าง
- หากยังมิได้ตัดไฟ หรือไม่แน่ใจ ไม่ควรแตะสัมผัสวัสดุที่เป็นโลหะใด ๆ กลอน ลูกบิดประตู รั้วโลหะ กริ่งหน้าบ้าน ประตูอัตโนมัติ
- แนะนำให้เตรียมไฟฉาย สวมถุงมือยางชนิดหนา หรือใช้ผ้าแห้งหนาแทน (อาจใช้ถุงมือผ้าสวมทับด้วยถุงมือยางชนิดบางก็ได้) และถ้ายังมีน้ำขัง ควรใส่รองเท้าบูทยางที่ไม่มีรูรั่ว เพื่อให้สามารถเข้าไปปลดเมนสวิตช์เพื่อตัดไฟได้
- เมื่อสามารถตัดไฟทั้งหมดได้แล้ว
- ก. สำรวจการใช้ไฟฟ้าบริเวณบ้านในส่วนชั้นล่างทั้งหมด ว่ามีการต่อใช้ไฟฟ้าอะไรบ้าง รวมทั้งไฟรั้ว ไฟสนามหญ้า ไฟแสงสว่าง ปั๊มน้ำ แอร์ ตู้เย็น ฯลฯ อุปกรณ์ทั้งหมดเหล่านี้ ต้องถอดปลั๊กออก หรือตัดการจ่ายไฟออกทั้งหมด (ควรทดสอบ ซ้ำด้วยไขควงลองไฟ)
- ข. อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่ชื้นหรือผ่านน้ำท่วม ห้ามใช้งานโดย เด็ดขาด จนกว่าจะผ่านการตรวจสอบจากช่างผู้เชี่ยวชาญ หรือจากผู้แทนของบริษัทผู้ผลิต
- การฉีดน้ำหรือล้างทำความสะอาดต้องทำหลังจากได้ตัดการจ่ายไฟทั้งหมดออกแล้วเท่านั้น และระมัดระวังไม่ทำให้ส่วนที่สำคัญของอุปกรณ์ ไฟฟ้า ต้องเปียกหรือทำให้เสียหายมากขึ้น (อาจใช้ผ้าพลาสติกคลุม)
- เต้ารับ สวิตช์ และสายไฟฟ้าที่ชื้นเพราะถูกน้ำท่วม หากเป็นไปได้ควรให้เปลี่ยนใหม่จะปลอดภัยที่สุด มิฉะนั้นต้องทำให้แห้ง และทำความสะอาดหน้าสัมผัสโลหะต่าง ๆ โดยขจัดสิ่งสกปรกและคราบสนิมออก ขั้วต่อสายต่าง ๆ ต้องถอดทำความสะอาดแล้วขันใหม่ (อาจฉีดด้วยน้ำยาสเปรย์กันสนิมและไล่ความชื้น)
- ระบบเครื่องปรับอากาศ
หลังน้ำลดต้องเรียกช่างแอร์ให้มาตรวจเช็คระบบเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน พร้อมทั้งทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง เช่น ระบบท่อต่างๆ แผ่นกรองอากาศ เปลี่ยนฉนวนกันความร้อนที่จมน้ำ ซึ่งเมื่อช่างแก้ไขเรียบร้อยให้หุ้มปิดไว้ก่อน การเปิดแอร์คอนดิชั่นจะใช้ได้เมื่อเราทำความสะอาดบ้านเรียบร้อยแล้วเท่านั้น มิฉะนั้นเชื้อราจะถูกดูดเข้าไปอยู่ในระบบปรับอากาศ และจะกลายเป็นที่เพาะพันธุ์เชื้อรา
- การทำความสะอาดโรงเรือน
- ควรทำความสะอาดภายใน 24 – 48 ชั่วโมง หลังน้ำลด
- ขนย้ายสิ่งของออกจากบ้านเพื่อความสะดวกในการล้างพื้น
- การทำความสะอาดพื้นบ้าน
- ใช้อุปกรณ์กวาด ตัก โคลน
- ฉีดน้ำล้างโคลนออก
- วัสดุปูทับพื้นต่างๆ เช่น เสื่อน้ำมัน พรม ควรรื้อออกเพื่อให้พื้นด้านล่างแห้ง เปิดหน้าต่างพัดลม ถ่ายเทอากาศ
- ฉีดล้างด้วยเครื่องแรงดันสูง หรือสายยางและใช้แปรงขัดคราบ
- ใช้น้ำผสมคลอรีน* ฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณบ้านก่อน เพื่อฆ่าเชื้อโรคและขจัดกลิ่น ทิ้งไว้ 15 นาที
- ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาเคมีทำความสะอาดที่สามารถฆ่าเชื้อได้
- ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อกำจัดกลิ่นที่เป็นสารชีวภาพเอนไซม์
- ควรเปลี่ยนวัสดุที่เกิดเชื้อราได้ง่าย เช่น พรม ผนังยิปซั่ม วอลล์เปเปอร์ เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้อัด ฟองน้ำในเฟอร์นิเจอร์
- มุมอับที่สงสัยว่าจะมีเชื้อโรค ใช้น้ำร้อนต้มเดือด หรือน้ำผสมคลอรีน* ราด
- สีทากำแพงบ้าน ควรซ่อมแซมเป็นอย่างสุดท้ายภายหลังทำความสะอาดบ้านเรียบร้อย (อาจต้องรอเป็นเดือน) เพื่อทิ้งให้ผนังกำแพงแห้งสนิทก่อน และอย่าวางสิ่งของติดผนัง
- ผนังบ้านที่เป็นไม้ หลังทำความสะอาดแล้ว ปล่อยให้แห้งสนิท แล้วจึงทาด้วยน้ำยารักษาเนื้อไม้
- สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในครัว
- เครื่องแก้ว กระเบื้อง พลาสติก เมลามีน โดยเฉพาะ แก้วน้ำ จานชามใส่อาหาร ให้ใช้น้ำผสมคลอรีน* แล้วนำในภาชนะแช่เอาไว้
- เครื่องเงิน โลหะต่างๆ เช่น ช้อน ส้อม มีด หม้อ กระทะ ไม่ควรใช้คลอรีน เนื่องจากอาจทำปฏิกิริยา กับโลหะทำให้สีเปลี่ยนไป แนะนำให้นำไปต้มในน้ำเดือด อย่างน้อย 10 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อ แล้วแช่ด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่สามารถฆ่าเชื้อได้
- เครื่องเรือน และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
- เฟอร์นิเจอร์บิลด์อิน ต้องทำไปพร้อมๆ กับการทำความสะอาดพื้น ผนัง กำแพงภายในตัวบ้าน ซึ่งหลังจากเสร็จขั้นตอนในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อแล้ว ให้เปิดหน้าต่างให้มีอากาศได้ระบาย
- เฟอร์นิเจอร์ลอย เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง ที่นอนยางพาราที่สามารถยกออกมาได้ให้นำออกมาทำความสะอาดในที่โล่งแจ้ง อากาศระบายถ่ายเทได้ดี โดยใช้วิธีเดียวกันกับการทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์บิลด์อิน แล้วจึงนำไปตากแดดผึ่งลมไว้จนแห้งสนิทที่สุดจึงค่อยนำกลับเข้าไปในตัวบ้านเพื่อใช้งานต่อไป
- เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เนื้ออ่อน มักไม่คุ้มค่าในการลงทุนลงแรงทำความสะอาดและซ่อมแซม
- เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ส่วนเฟอร์นิเจอร์หุ้มด้วยหนังหรือหุ้มด้วยผ้าที่บุด้วยฟองน้ำข้างใน หากสภาพโครงเฟอร์นิเจอร์ยังดีอยู่และคุ้มค่าที่จะนำไปหุ้มใหม่ โดยเปลี่ยนฟองน้ำข้างในใหม่หมด
- เครื่องใช้ที่ทำจากผ้า ต้องรีบนำมาซักทำความสะอาดฆ่าเชื้อโดยเร็วก่อนขึ้นรา ซักด้วยน้ำร้อน แล้วตากแดดให้แห้ง
- ลอกวอลล์เปเปอร์ที่แช่อยู่ในน้ำออก เพราะเชื้อราอาจแฝงตัวอยู่ระหว่างผนังและวอลล์เปเปอร์
- การทำความสะอาดบริเวณรอบที่อยู่อาศัย
- เก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษหรือสัตว์นำโรค
- ทำความสะอาดท่อหรือรางระบายน้ำนอกตัวบ้าน เศษขยะ ทราย ดิน โคลน
- จัดการน้ำท่วมขังในบริเวณบ้าน อาจส่งกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคและยุง
- ต้นไม้ใหญ่ หาไม้ค้ำยันช่วยให้ลำต้นและรากให้ฟื้นตัวแข็งแรง และระบายน้ำออกให้หมดป้องกันรากเน่า
*การใช้ผงปูนคลอรีน (ความเข้มข้น 60%)
การใช้ประโยชน์
|
ผงปูนคลอรีน
|
น้ำที่ผสม (ลิตร)
|
ระยะเวลา (นาที)
|
1. น้ำดื่ม น้ำใช้ |
1/8 ช้อนชา
|
160
|
30
|
2. แช่ผักผลไม้ |
1/2 ช้อนชา
|
20
|
30
|
3. แช่ภาชนะ อุปกรณ์ |
1 ช้อนชา
|
20
|
2
|
4. ล้างอาคารสถานที่ |
1 ช้อนชา
|
10
|
–
|
5. ใส่ในถังเก็บปฏิกูลกรณีฉุกเฉิน |
10 ช้อนโต๊ะ
|
200
|
30
|
สาเหตุการเน่าเสียของน้ำที่ท่วมขัง
- สารอินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำซึ่งมาจากอุจจาระ ปัสสาวะ เศษอาหาร ขยะมูลฝอย ซากพืช ซากสัตว์
- การย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำ จะใช้ออกซิเจนจากในน้ำทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง
- สารอินทรีย์จะถูกย่อยสลายต่อไปโดยจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) และก๊าซแอมโมเนีย ทำให้น้ำมีสีดำและมีกลิ่นเหม็น
- ปัญหาการเน่าเสียจะรุนแรงมากขึ้นถ้าปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำเพิ่มมากขึ้น ไม่มีการเพิ่มออกซิเจนลงสู่น้ำ แสงแดดส่องไม่ถึง และระยะเวลาการท่วมขังยาวนานโดยไม่มีการไหลเวียนของน้ำที่ท่วมขัง
ผลกระทบจากน้ำเน่าเสีย
- กลิ่นเหม็น
- โรคจากการสัมผัสกับน้ำ เช่น ตาแดง โรคผิวหนังและแผลเน่าเปื่อย
- โรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ เช่น ไทฟอยด์ ท้องร่วง อหิวาตกโรค
- เสียสุขภาพจิต
- แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคถูกปนเปื้อน
การแก้ปัญหาน้ำท่วมขังที่เน่าเสีย
- การเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ (ถ้าสามารถทำได้)
- การลดปริมาณสารอินทรีย์ที่ลงสู่น้ำ
- แยกขยะที่ย่อยสลายง่าย เช่น เศษอาหาร ผักผลไม้ ใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุง
- ของเสียจากการขับถ่าย ใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงทุกครั้ง โรยปูนขาวลงในถุงพลาสติกเพื่อทำลายเชื้อโรคและลดกลิ่น
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำการเก็บขนขยะที่ย่อยสลายได้ง่ายไปกำจัด ไม่ให้สะสมเกิน 3 วัน
- การบำบัดน้ำท่วมขัง (หากจำเป็น)
- การเติมอากาศให้จุลินทรีย์ อาจใช้เครื่องเติมอากาศ เครื่องสูบน้ำ ให้น้ำสัมผัสอากาศ หรือให้เกิดการไหล
- การเพิ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยในการบำบัดน้ำ
- การเพิ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยในการบำบัดน้ำ เช่น การใช้อีเอ็ม (EM) effective microorganism ซึ่งมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง ต่อประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำท่วมขัง โดย EM ต้นแบบ (ลิขสิทธิ์ Professor Teruo Higa) ซึ่งอ้างว่ามีความสามารถในการกำจัดกลิ่นและทำให้น้ำใส แต่ก็เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาชั่วคราว หากสารอินทรีย์ในน้ำยังคงอยู่ และออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าน้ำนั้นสะอาดจริง นอกจากนั้นการหมัก EM ในแบบต่างๆ จุลินทรีย์ที่ได้อาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างจากจุลินทรีย์ใน EM ต้นแบบ สารที่ใช้ในการหมักเป็นส่วนผสมซึ่งเป็นวัสดุอินทรีย์อาจเหลือตกค้าง ทำให้น้ำเน่าเสียเพิ่มขึ้น และหากไม่ได้ผ่านกระบวนการควบคุมคุณภาพที่ดีพอ อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคได้
- การใช้งาน EM ต้องใช้ให้ถูกกับประเภทของภาระกิจ (ไม่มี EMใด ที่ทำงานได้ครอบจักรวาล) ให้ถูกชนิด มีปริมาณเพียงพอและต้องใช้ในบริเวณพื้นที่จำกัด เพื่อที่ EM จะได้ขยายพันธุ์ เพื่อกินของเน่าเสีย การเทหรือโยนลงไปในน้ำท่วมที่ไหลจะไม่ได้ผลอะไรเพราะจะถูกเจือจาง และเพิ่มจำนวนไม่ทัน
- แนวทางการใช้จุลินทรีย์ในการกำจัดลูกน้ำยุง และการบำบัดน้ำเสีย
- มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการวิจัยจนสามารถพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ จุลินทรีย์บาซิลลัส สเฟียริคัส เพื่อควบคุมยุงรำคาญและผลิตภัณฑ์
B. thuringiensis (Bti.) ใช้ในการควบคุมลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความปลอดภัยและ WHO แนะนำ
- นอกจากนั้นแนวทางการใช้จุลินทรีย์บำบัดน้ำเน่าเสียโดยการใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ คัดสายพันธุ์จุลิน ทรีย์ Bacillus subtilis ผลิตเป็นผงแห้ง ซึ่งได้มีการศึกษาและทดสอบมามากมายว่าสามารถใช้ในการบำบัดน้ำเสียได้ มีคุณสมบัติทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ดี ซึ่งมีการพัฒนาและผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมในชื่อผลิตภัณฑ์ GPO klean
เอกสารและข้อมูลอ้างอิง
- อ้างอิงบางส่วนจาก www.floodwisdom.mahidol.ac.th
- ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล/สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย, การแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียจากภาวะอุทกภัย
- สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, รื้อ…ล้าง…หลังน้ำลด
- ข้อมูลจาก คุณกมลพรรณ (กอวัฒนา) นุชผ่องใส กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ฟาร์อีสต์เพียร์เลส (ไทยแลนด์) 1968 จำกัด
- อ้างอิงบางส่วนจาก A Brief Guide to Mold, Moisture and Your Home จาก EPA Website
- อ้างอิงบางส่วนจาก ” Mold Removal Guidline for Your Flooded Home, Louisiana State University Agricultural Center
- อ้างอิงบางส่วนจาก www.vcharkarn.com
|