งากับการป้องกันภาวะวัยทองและต้านมะเร็งเต้านม

ดร.อภิญญา เทียนธนะวัฒน์ ดร.นุชนาถ รังคดิลก และ รศ. ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์

เมล็ดงา ประกอบด้วย น้ำมันประมาณ 40-59% โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและธาตุต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ คือวิตามินอี และสารประกอบกลุ่มลิกแนน เช่น เซซามิน และเซซาโมลิน ในระหว่างกระบวนการทำน้ำมันงาและการนำเมล็ดงาไปคั่ว สารเซซาโมลิน จะเปลี่ยนเป็นเซซามอล ส่วนสารเซซามินสามารถถูกเปลี่ยนโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไปเป็นสาร 2 ชนิด คือ เอ็นเทอโรไดออลล์ และเอ็นเทอโรแล็กโตน ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีรายงานว่าสารทั้ง 2 ชนิดนี้มีฤทธิ์ในการป้องกันมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากได้

เอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อร่างกายโดยควบคุมระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท และระบบไหลเวียนของเลือดและหัวใจ พบว่า เอสโตรเจนสามารถกระตุ้น และส่งเสริมการเกิดมะเร็งเต้านมชนิดที่เซลมะเร็งมีตัวรับเอสโตรเจนชนิดอัลฟ่า ซึ่งมะเร็งชนิดดังกล่าว สามารถรักษาได้ด้วยยาในกลุ่มที่ต้านฤทธิ์ หรือยับยั้งการผลิตเอสโตรเจน ในสตรีวัยทอง การสร้างเอสโตรเจนลดน้อยลง ก่อให้เกิดกลุ่มภาวะโรควัยทอง ที่สำคัญคือภาวะกระดูกพรุน ซึ่งการรักษาโดยเสริมปริมาณเอสโตรเจนสามารถป้องกัน และลดกลุ่มอาการวัยทองได้ พืชหลายชนิดมีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนเรียกเป็นกลุ่มใหญ่ว่า Phytoestrogen โดยสารในกลุ่มนี้ มีความสามารถที่จะกระตุ้นตัวรับเอสโตรเจนได ้แต่มักจะมีฤทธิ์ที่อ่อนกว่าเอสโตรเจน พบว่าการรับประทานพืชที่มีสารในกลุ่ม Phytoestrogen สามารถลดอาการของภาวะวัยทองได้ นอกจากนี้ยังพบว่า Phytoestrogen สามารถป้องกันการเกิดของมะเร็งเต้านมและอาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม

คณะผู้วิจัยได้ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากเมล็ดและน้ำมันงาต่อมะเร็งเต้านม โดยการวิจัยคลอบคลุมสารสกัด 3 ชนิดคือ เซซามิน เซซาโมลินและเซซามอล ผลการวิจัยพบว่า สารสกัดจากงาทั้งสามชนิด มีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลมะเร็งเต้านม โดยขึ้นอยู่กับระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน การศึกษากลไกในระดับโมเลกุลพบว่า ในสภาวะที่มีเอสโตรเจน สารสกัดจากงา มีฤทธิ์ลดการทำงานของตัวรับเอสโตรเจน ส่งผลให้เกิดการยับยั้งการเจริญของเซลมะเร็งเต้านม แต่ในสภาวะที่ไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือมีเอสโตรเจนในความเข้มข้นต่ำ สารสกัดจากงาจะออกฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน โดยกระตุ้นการแสดงออกของยีนที่ควบคุมโดยเอสโตรเจนเช่น pS2 และ progesterone receptor ซึ่งเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม โดยฤทธิ์ของสารสกัดจากงามีฤทธิ์อ่อนกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ทั้งนี้ระหว่างสาร 3 ชนิดพบว่า เซซามอลมีฤทธิ์สูงสุด

ผลการวิจัยนี้แสดงว่าสารจากงาคือ เซซามิน เซซาโมลิน และเซซามอล จัดเป็นกลุ่ม Phytoestrogen ซึ่งอาจมีผลป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมในสตรีวัยเจริญพันธุ์ และอาจใช้แทนฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีหลังหมดประจำเดือน เพื่อรักษากลุ่มอาการวัยทอง แต่จะมีข้อควรระวังเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมในสตรีวัยทอง สิ่งที่ควรคำนึงอีกข้อหนึ่งคือ การวิจัยพบว่า ปริมาณของสารลิกแนนดังกล่าวในเมล็ดงา มีความแตกต่างกันมากในงาแต่ละสายพันธุ์ ดังนั้น ปริมาณงาหรือน้ำมันงาที่จะบริโภค เพื่อให้ได้สารสำคัญดังกล่าวในปริมาณที่ออกฤทธิ์ จึงแตกต่างไปตามสายพันธุ์ของงา