การปนเบื้อนแคดเมียมในปลาช่อนจากตลาดในกรุงเทพมหานคร

ผศ.ดร. อรทัย อร่ามพงษ์พันธ์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แคดเมียม เป็นโลหะหนักซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในทางอุตสาหกรรม แต่แคดเมียมและสารประกอบของแคดเมียม ก่อให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีความเป็นพิษสูง และจัดเป็นสารก่อมะเร็งในคน บุคคลทั่วไปซึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพที่สัมผัสกับแคดเมียมโดยตรง จะได้รับแคดเมียมจากอาหารที่ปนเปื้อน ในประเทศไทย แหล่งอาหารโปรตีนที่มีความสำคัญและมีผู้รับบริโภคสูงสุดคือปลา แต่เนื่องจากปลาเป็นสัตว์ในห่วงโซ่อาหาร จึงได้รับแคดเมียมจากสิ่งแวดล้อมและมีการสะสมตามอวัยวะต่างๆ ทั้งนี้ ระดับแคดเมียมและโลหะหนักอื่นๆ ในปลายังเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของน้ำได้เป็นอย่างดี

ห้องปฏิบัติการตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยจากการปนเปื้อนของแคดเมียมในอาหาร จึงเลือกสำรวจปริมาณแคดเมียมในปลาช่อน ซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อ ที่มีการสะสมของแคดเมียมจากน้ำและอาหาร ได้แก่ สัตว์เล็กๆ ในห่วงโซ่อาหาร ทั้งนี้ ปลาช่อนจัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีการส่งออก และเป็นปลาที่คนไทยนิยมบริโภคเป็นอันดับที่สองรองจากปลานิล เนื่องจากโปรตีนจากปลาช่อน เป็นโปรตีนคุณภาพดี เพราะเป็นปลาที่ซื้อขายในขณะที่ยังมีชีวิต การสำรวจนี้ มุ่งตรวจวัดระดับแคดเมียมในปลาช่อนที่จำหน่ายในตลาดในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นปลาเพาะเลี้ยงจากจังหวัดใกล้เคียง เพื่อประเมินความปลอดภัยในการบริโภค

ห้องปฏิบัติการได้เก็บตัวอย่างปลาช่อนจากตลาด 6 แห่ง ในเขตต่างๆ ของกรุงเทพฯ 6 เขต ได้แก่ เขตกรุงเทพฯ ใต้ เขตกรุงเทพฯ เหนือ เขตศรีนครินทร์ เขตบูรพา เขตเจ้าพระยา และเขตรัตนโกสินทร์ ปลาช่อนที่เก็บได้จะบรรจุในน้ำแข็งและนำกลับห้องปฏิบัติการในวันเดียวกัน

ปลาช่อนที่เก็บจากตลาด 6 แห่ง มีขนาดความยาวเฉลี่ย 32+2.5 ซม. น้ำหนักเฉลี่ย 351.2+24.7 กรัม โดยนำปลามาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำกลั่น เพื่อชำระสิ่งปนเบื้อนที่ติดมา จากนั้นจึงผ่าตัดแยกออกเป็นส่วนเนื้อปลา หนัง เหงือก และตับ นำเนื้อเยื่อแต่ละส่วน มาล้างให้สะอาดด้วยน้ำกลั่นก่อนบดและทำให้แห้งด้วยความเย็น จากนั้นย่อยด้วยกรดไนตริกในเครื่อง Digestive microwave oven และตรวจวัดระดับแคดเมียมด้วยเครื่อง Graphite Furnaces Atomic Absorption

เนื่องจากมีรายงานว่า ขนาดของปลาเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการสะสมแคดเมียม การสำรวจครั้งนี้พบว่า ขนาดปลาช่อนที่เก็บตัวอย่างจากตลาดทั้ง 6 แห่ง ไม่มีความแตกต่างกัน แต่ระดับการปนเบื้อนแคดเมียม จะต่างกันระหว่างตลาดที่เก็บตัวอย่าง สาเหตุอาจเกิดจากบริเวณที่ตั้งของแหล่งเพาะเลี้ยง และอาหารที่ใช้ในการเลี้ยง โดยปลาช่อนที่เก็บจากตลาดทั้ง 6 แห่งได้มาจากแหล่งเพาะเลี้ยงใน 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดสุโขทัย โดยที่รูปแบบการสะสมแคดเมียมจะเหมือน กัน คือ ตับมีการสะสมแคดเมียมสูงสุด ค่าเฉลี่ยของแต่ละตลาดอยู่ระหว่าง 0.13-1.68 ppm. หรือ 0.13-1.68 มก/กก รองมาคือส่วนหนังและเหงือก ส่วนเนื้อปลามีระดับแคดเมียมสะสมต่ำสุด โดยค่าเฉลี่ยของแต่ละตลาดอยู่ระหว่าง 0.02-0.11 ppm. หรือ 0.02-0.11 มก/กก.

เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของแคดเมียมในเนื้อปลาช่อนกับค่าปริมาณสูงสุดของแคดเมียมที่อนุญาตให้พบได้ในอาหาร (Maximum Residue Level, MRL) ของสหภาพยุโรปซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 0.05 มก/กก ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นแคดเมียมที่ตรวจพบยังอยู่ในเกณฑ์ แต่ถ้าพิจารณารายตัวอย่าง จะมีตัวอย่างจำนวน 10 ตัวอย่างจาก 36 ตัวอย่าง มีระดับแคดเมียมปนเบื้อนในเนื้อปลาเกินค่า MRL

เพื่อประเมินปริมาณแคดเมียมที่เข้าสู่ร่างกายจากการบริโภคเนื้อปลาต่อคนในคนไทยน้ำหนัก 60 กก. ซึ่งมีรายงานการบริโภคเนื้อปลาปริมาณ 480 กรัมต่อสัปดาห์ (รายงานประจำปี 2550 ของ Mekong River Commission) หากเนื้อปลาที่บริโภคเป็นเนื้อปลาช่อนอย่างเดียว ปริมาณแคดเมียมที่เข้าสู่ร่างกายใน 1 สัปดาห์จะเท่ากับ 105.6 ไมโครกรัม เมื่อคำนวณจากระดับของแคดเมียมสูงสุดที่ตรวจพบในเนื้อปลาช่อนคือ 0.22 ppm (0.22 มก/กก) นำค่าที่คำนวณได้มาเปรียบเทียบกับค่า Provisional Tolerable Weekly Intake, PTWI ของแคดเมียมกำหนดโดยโครงการความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศ (The Joint FAO/WHO Expert Committee ) ซึ่งเท่ากับ 7 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หรือเท่ากับ 420 ไมโครกรัมต่อสัปดาห์ต่อคน (น้ำหนักตัว 60 กก.) จะเห็นว่า ปริมาณแคดเมียมที่ได้รับจากเนื้อปลาช่อนที่มีการปนเบื้อนระดับสูงสุดยังคงต่ำกว่าค่า PTWI และคิดเป็น 25% ของค่า PTWI

ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า ระดับแคดเมียมปนเบื้อนในเนื้อปลาช่อนซึ่งเป็นส่วนที่ใช้บริโภคยังคงอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคปลาช่อนต่อเนื่องเป็นประจำ ควรให้การส่งเสริมและรับรองมาตรฐานแหล่งเพาะเลี้ยงปลา รวมทั้ง การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำของแหล่งเพาะเลี้ยง และเนื่องจากยังมีความหลากหลายในการกำหนดค่า MRL ของแคดเมียมในเนื้อปลาในแต่ละประเทศ ระดับการปนเปื้อนแคดเมียมจากการสำรวจนี้ สามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นประกอบการกำหนด ค่ามาตรฐานการปนเบื้อนแคดเมียมในเนื้อปลาของประเทศได้ ซึ่งจะมีประโยชน์ในทางการค้าระหว่างประเทศต่อไป

เอกสารอ้างอิง: