สถานการณ์การปนเปื้อนของสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานกลุ่มเพอร์/โพลีฟลูออโรอัลคิลในสิ่งแวดล้อม อาหาร และการได้รับสัมผัสในประชากรไทย

ดร.ทวิช สุริโย, ดร.นุชนาถ รังคดิลก, นันทนิจ ผลพนา, และรศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์
ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (CRI), สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ (CGI)
และศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา

อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: SC) มีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในระดับสากล โดยการลดและ/หรือเลิกการผลิต การใช้และการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants: POPs) รวมทั้งการกำจัดสารดังกล่าวให้หมดไป ซึ่งสาร POPs เป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ยาก มีคุณสมบัติเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ ตกค้างยาวนาน สามารถสะสมในสิ่งมีชีวิต ในห่วงโซ่อาหาร และในสิ่งแวดล้อมได้มาก และยังสามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันสาร POPs ที่ถูกบรรจุอยู่ในอนุสัญญาสตอกโฮล์ม มีมากถึง 30 ชนิด หนึ่งในกลุ่มสารเคมีเหล่านั้น ได้แก่ สารกลุ่มเพอร์/โพลีฟลูออโรอัลคิล (Per/polyfluoroalkyl substances: PFASs) ทั้งนี้ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2005 ส่งผลให้อนุสัญญามีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2005 เป็นต้นมา

สารเคมีกลุ่มเพอร์/โพลีฟลูออโรอัลคิลเป็นสารเคมีที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น มีการผลิตและนำไปใช้ในอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ  โดยสารเหล่านี้เป็นสารลดแรงตึงผิว สามารถใช้เคลือบเพื่อปรับผิววัสดุให้ลื่น หรือกันน้ำกันเปื้อนได้ ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น ใช้เคลือบวัสดุทำเสื้อผ้าเพื่อลดการเปื้อน ใช้เคลือบวัสดุบรรจุอาหารกระดาษเพื่อลดการเปียกชื้นจากน้ำ/น้ำมัน ใช้เคลือบถังชุบผิวโลหะด้วยไฟฟ้า เพื่อลดการเกิดละอองไอกรดโครเมียม เป็นต้น ในปัจจุบันสารกลุ่ม PFASs ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น มีมากกว่า 4,700 ชนิด ซึ่งสามารถแบ่งเป็นหลายกลุ่มย่อย โดยมีสองกลุ่มย่อยที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีความคงตัวในสิ่งแวดล้อม มีการสะสมในเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิต และมีความเป็นพิษ ได้แก่ กลุ่ม Perfluoroalkyl sulfonic acid และกลุ่ม Perfluooalkyl carboxylic acid โดยสารที่สำคัญในกลุ่มนี้ คือ Perfluorooctane sulfonic acid (PFOS) และ Perfluorooctanoic acid (PFOA) ตามลำดับ สาร PFOS และอนุพันธ์ได้ถูกกำหนดให้เป็นสารมลพิษตกค้างยาวนานภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์ม ตั้งแต่ปี 2009 ส่วนสาร PFOA และอนุพันธ์ได้ถูกกำหนดให้เป็นสารมลพิษตกค้างยาวนานในปี 2019 และต่อมาสารในกลุ่ม PFASs ตัวอื่นๆก็เริ่มได้รับการพิจาณากำหนดให้เป็นสารมลพิษตกค้างยาวนาน เช่น สารกลุ่ม Perfluorohexanesulfonic acid (PFHxS) ได้ถูกกำหนดในปี 2022 อีกทั้งยังมีสารกลุ่ม long-chain perfluorocarboxylic acids (LC-PFCAs) ที่กำลังจะถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมประจำปีของประเทศสมาชิกในเร็วๆนี้อีกด้วย

จากรายงานการวิจัยต่างๆ แสดงให้เห็นว่า สาร PFASs มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยส่งผลต่อการทำงานของตับ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบสืบพันธุ์ ระบบหลอดเลือดหัวใจ และการเจริญเติบโตของทารก ทั้งนี้หน่วยงานขององค์การอนามัยโลกอย่าง IARC (The International Agency for Research on Cancer) ได้จัดให้สาร PFOA อยู่ในกลุ่มอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (กลุ่ม 2B) ส่วนในสหรัฐอเมริกา ในปี 2022 สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (US EPA) มีการปรับปริมาณของสารปนเปื้อนนี้ในน้ำดื่มที่ไม่เป็นภัยต่อสุขภาพจากการได้รับสัมผัสตลอดชีวิต (Lifetime Health Advisory Levels: HALs) ลดลง จากเดิมที่ระดับความเข้มข้น 70 ng/L สำหรับสาร PFOS และ PFOA มาเป็นที่ระดับความเข้มข้น 0.02 ng/L สำหรับ PFOS และ 0.004 ng/L สำหรับ PFOA โดยค่า HALs นี้เป็นเพียงค่าแนะนำเท่านั้น และเมื่อประมาณกลางเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา ทาง US EPA ได้กำหนดขีดจำกัดปริมาณสารปนเปื้อนสูงสุด (Maximum Contaminant Levels, MCLs) ที่บังคับใช้ได้ตามกฎหมายในน้ำดื่มที่ระดับความเข้มข้น 4.0 ng/L สำหรับทั้ง PFOS และ PFOA

สำหรับประเทศไทยการจัดการสาร PFASs เหล่านี้ ในปัจจุบันอยู่ในแผนการจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ฉบับที่ 2 มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ระหว่างปี 2023-2027 โดยสาร PFOS มีการใช้ในประเทศไทยในกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอ กระดาษ ที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร การชุบผิวโลหะ และโฟมดับเพลิง ทั้งนี้บริษัทที่ผลิตเพื่อส่งออกส่วนใหญ่เลิกใช้สาร PFOS ตั้งแต่ปี 2009 เนื่องจากสหภาพยุโรปได้ออกระเบียบห้ามใช้สาร PFOS ในผลิตภัณฑ์ ข้อมูลจากผู้จำหน่ายสารเคมีในประเทศไทยบ่งชี้ว่า โรงงานชุบโลหะขนาดเล็กบางรายยังคงมีการใช้สาร PFOS อยู่ ทั้งนี้สำหรับประเทศไทย สาร PFOS และอนุพันธ์จำนวน 9 ชนิด ถูกกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เมื่อปี 2013 และ 2017 โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการจำกัดการใช้งาน โดยการผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จากข้อมูลการนำเข้า คาดการณ์ว่าในประเทศไทยยังคงมีปริมาณความต้องการใช้สาร PFOS ในงานชุบโลหะประมาณ 300-400 กิโลกรัมต่อปี และมีการตรวจพบสาร PFOS ในผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศไทย เช่น สิ่งทอ ครีมกันแดด และน้ำดื่มบรรจุขวด และมีรายงานการตรวจพบสาร PFOS ในน้ำทิ้งของโรงบำบัดน้ำเสียอุตสาหกรรม น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และน้ำประปา โดยปริมาณที่ตรวจพบสัมพันธ์กับพื้นที่ที่อาจมีการใช้สารนี้ จากการสำรวจสาร PFOS ในโฟมดับเพลิง ในปี 2019 พบโฟมดับเพลิงที่มีสาร PFOS เป็นส่วนประกอบในโรงกลั่นน้ำมันและคลังน้ำมัน ซึ่งเป็นโฟมดับเพลิงที่นำเข้าก่อนปี 2009

สำหรับ สาร PFOA   ในปี 2023 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กำหนดให้สาร PFOA และสารอนุพันธ์ จำนวน 8 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4  โดยมีการห้ามการผลิต นำเข้า และการใช้งานในประเทศ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นในการใช้งานบางประเภท เช่น การใช้ในการเคลือบภาพถ่ายที่ใช้กับฟิลม์  การใช้ในสิ่งทอสำหรับป้องกันการเปียกและซึมของน้ำและน้ำมัน การใช้ในโฟมดับเพลิงสำหรับไอน้ำมันเชื้อเพลิงเหลวและเพลิงไหม้เชื้อเพลิงเหลวทั้งแบบเคลื่อนที่และแบบติดยึด การใช้ในการผลิต polytetrafluoroethylene (PTFE) และ polyvinylidene fluoride (PVDF) และการใช้ในการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับภายในรถยนต์ เป็นต้น ส่วนสารกลุ่ม PFHxS นั้น ประเทศไทยโดยกรมควบคุมมลพิษกำลังจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับแผนจัดการสารกลุ่มนี้

การวิจัย พัฒนา และการติดตามตรวจสอบสารเหล่านี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของแผนระดับชาติ เพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ฉบับที่ 1 และ 2 โดยที่ผ่านมาห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้มีการดำเนินการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการตรวจติดตามการปนเปื้อนของสาร PFOS และ PFOA ในแหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน น้ำทะเล ตลอดจนการปนเปื้อนในอาหารทะเล และน้ำดื่ม และทำการประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) จากการได้รับสัมผัสสารทั้งสองชนิดนี้ โดยเลือกพื้นที่ศึกษาเป็นบริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีโรงงานประกอบกิจการหลากหลาย ได้แก่ โรงงานผลิตสารเคมี กิจการปิโตรเคมี และโรงงานเคลือบชุบโลหะ เป็นต้น โดยมีความเป็นไปได้สูงว่า ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมนี้อาจมีการใช้สาร PFOS และ PFOA ในกระบวนการผลิตหรือกิจกรรมดับเพลิง

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระหว่างปี 2019-2023 ในการตรวจวัดระดับการปนเปื้อนของ PFOS และ PFOA ในสิ่งแวดล้อมรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทั้งตัวอย่างน้ำผิวดิน และน้ำประปา และอาหารทะเล ผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า มีการปนเปื้อนของสาร PFOS และ PFOA ทั้งในสิ่งแวดล้อมและอาหารทะเล ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งสูงกว่าในตัวอย่างจากบริเวณใกล้เคียงเช่นพื้นที่ชุมชนเขตเทศบาลเมืองระยอง และจังหวัดอื่นๆ เช่น กรุงเทพมหานคร และจันทบุรี นอกจากนี้ปริมาณการปนเปื้อนยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษที่ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนในแหล่งน้ำบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเมื่อปี 2016 และเมื่อทำการเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนของสารทั้งสองชนิดนี้ในตัวอย่างน้ำจากสิ่งแวดล้อมที่ได้จากการศึกษานี้กับการศึกษาก่อนหน้านี้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่า ช่วงของความเข้มข้นของสาร PFOS ที่พบในการศึกษานี้กว้างกว่าผลของการศึกษาก่อนหน้านี้ที่รายงานการปนเปื้อนของสารทั้งสองชนิดนี้ในตัวอย่างน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือในแหล่งน้ำของประเทศอื่นๆ ส่วนปริมาณการปนเปื้อนของสาร PFOA พบว่ามีช่วงของความเข้มข้นที่ตรวจพบในตัวอย่างแคบและน้อยกว่าสาร PFOS และยังมีปริมาณการปนเปื้อนที่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ดังแสดงในตารางที่ 1 อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ ทั้งประเทศไทยและสากลยังไม่มีการกำหนดค่ามาตราฐานการปนเปื้อนของสารทั้งสองชนิดนี้ในน้ำจากสิ่งแวดล้อม ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ก่อนหน้านี้มีเพียง US EPA ที่มีการกำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดที่สามารถยอมรับได้ (MLCs) ของสารทั้งสองชนิดนี้ในน้ำดื่มที่ระดับความเข้มข้น  4.0 ng/L ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนของน้ำดื่มบรรจุขวดจากการศึกษานี้กับค่ามาตรฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าปริมาณการปนเปื้อนของสารทั้งสองชนิดนี้ในน้ำดื่มบรรจุขวดของประเทศไทยยังไม่เกินค่ามาตรฐานน้ำดื่มที่กำหนด แต่อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสถานการณ์ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบปริมาณเฉลี่ยของสาร PFOS และ PFOA ในตัวอย่างน้ำจากสิ่งแวดล้อม น้ำประปาและ น้ำดื่ม ของแต่ละประเทศ

สำหรับผลการวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารทะเล ซึ่งเป็นการรายงานการปนเปื้อนของสารทั้งสองชนิดนี้ในตัวอย่างอาหารทะเลของประเทศไทย พบว่า มีการปนเปื้อนของสาร PFOS ในทุกตัวอย่างและมีความเข้มข้นโดยรวมสูงกว่าสาร PFOA เช่นเดียวกันกับตัวอย่างน้ำจากสิ่งแวดล้อม โดยพบว่า การปนเปื้อนของสารทั้งสองชนิดนี้ในตัวอย่างอาหารทะเลแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน อาหารทะเลที่พบการปนเปื้อนสาร PFOS มากที่สุด คือ หมึกกล้วย รองลงมาคือ หอยหวานและหอยนางรม และเมื่อทำการเปรียบเทียบกับการปนเปื้อนของสารทั้งสองชนิดนี้ในตัวอย่างอาหารทะเลจากประเทศอื่นๆ พบว่า ช่วงปริมาณการปนเปื้อนของสาร PFOS ในตัวอย่างอาหารทะเลบริเวณพื้นที่ศึกษา มีความกว้างมากกว่าบางประเทศ เช่น สเปน ฝรั่งเศส และไต้หวัน สำหรับสาร PFOA ผลการวิเคราะห์พบว่า การปนเปื้อนในตัวอย่างอาหารทะเลที่ได้จากบริเวณพื้นที่ศึกษามีปริมาณที่ต่ำกว่ารายงานการปนเปื้อนในประเทศอื่นๆ ดังแสดงในตารางที่ 2 ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดค่ามาตราฐานปริมาณการปนเปื้อนของสารทั้งสองชนิดนี้ในอาหาร แต่อย่างไรก็ตามในปี 2020 ทาง European Food Safety Authority (EFSA) ได้กำหนดค่าปริมาณที่ปลอดภัยของการได้รับสัมผัสสารกลุ่ม PFASs โดยกำหนดค่าปริมาณสูงสุดที่ร่างกายรับได้ต่อสัปดาห์โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย (Tolerable Weekly Intake: TWI) ไว้ที่ 4.4 นาโนกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ โดยจะคิดรวมปริมาณการได้รับสัมผัสสารกลุ่ม PFASs 4 ชนิดรวมกันได้แก่ PFOS PFOA PFHxS และ perfluorononanoic acid (PFNA) จากการนำผลการวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของสาร PFOS และ PFOA ในอาหารทะเลมาคำนวณหาปริมาณการได้รับสัมผัสสาร (Exposure assessment) ทั้งสองชนิดนี้จากการบริโภคอาหารทะเล โดยคำนวณจากปริมาณการบริโภคอาหารทะเลแต่ละชนิดของประชากรไทยต่อสัปดาห์ซึ่งอ้างจากฐานข้อมูลปริมาณอาหารแต่ละชนิดที่คนไทยบริโภค ผลการคำนวณในเบื้องต้นพบว่า การได้รับสัมผัสสาร PFOS และ PFOA จากอาหารทะเลของประชากรไทยจะอยู่ที่ประมาณ 1.92 นาโนกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งจะต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ทาง EFSA กำหนดไว้ หมายความได้ว่าการบริโภคอาหารทะเลของคนไทยยังมีความปลอดภัยต่อความเป็นพิษของสารกลุ่ม PFASs แต่อย่างไรก็ตามการประเมินความเสี่ยงนี้ยังเป็นการประเมินในเบื้องต้น โดยมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น จำนวนตัวอย่างและชนิดของอาหารทะเลมีจำนวนน้อย จำนวนชนิดของสาร PFASs ที่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ เป็นต้น ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป    

ตารางที่ 2 แสดงการเปรียบเทียบปริมาณเฉลี่ยของสาร PFOS และ PFOA ในตัวอย่างอาหารทะเลของแต่ละประเทศ

นอกจากนี้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ยังได้มีงานวิจัยในการศึกษาดัชนีชีวภาพของการได้รับสัมผัส (biomarker of exposure) สาร PFOS และ PFOA ในประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด เพื่อเป็นข้อมูลที่ใช้ในการประเมินสถานการณ์การปนเปื้อนและการได้รับสัมผัสของสาร PFOS และ PFOA ในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการชี้วัดการได้รับสัมผัสของสารทั้งสองชนิดนี้ในประชากรไทย โดยงานวิจัยดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล  ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยนี้ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิธีวิเคราะห์สารทั้งสองชนิดนี้ในตัวอย่างพลาสมา โดยนำตัวอย่างพลาสมามาสกัดด้วยเทคนิค Solid Phase Extraction (SPE)  ก่อนจะนำไปวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS/MS) และได้นำวิธีวิเคราะห์ที่ได้พัฒนาและทดสอบความถูกต้องของวิธีวิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์ของ ICH bioanalytical validation guideline ไปใช้ในการวิเคราะห์ตัวอย่าง เบื้องต้นได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของสารทั้งสองชนิดนี้ในตัวอย่างพลาสมาของผู้บริจาคโลหิตแก่สภากาชาดไทย เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นของปริมาณการได้รับสัมผัสสาร PFOS และ PFOA ของประชากรไทย โดยผลการวิเคราะห์ตัวอย่างพลาสมาของผู้บริจาคโลหิต จำนวน 50 คน พบว่า ร้อยละ 92 และ 86 ของตัวอย่างสามารถตรวจพบปริมาณสาร PFOS และ PFOA ได้ตามลำดับ โดยมีปริมาณการปนเปื้อนของสารทั้งสองชนิดอยู่ในช่วงต่ำกว่าค่าการปนเปื้อนของสารทั้งสองชนิดนี้ในตัวอย่างพลาสมาของประชากรทั่วไปของประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ จีน หรือสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ทั้งนี้ในปัจจุบัน ประเทศไทยและสากลยังไม่มีการกำหนดค่ามาตราฐานดัชนีชี้วัดการได้รับสัมผัสสาร PFASs ของมนุษย์

จากข้อมูลของการวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สรุปได้ว่าสถานการณ์การปนเปื้อนของสาร PFOS และ PFOA  ในตัวอย่างน้ำจากสิ่งแวดล้อม น้ำประปา น้ำดื่ม ตลอดจนอาหารทะเลของประเทศไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ต่ำ การประเมินความเสี่ยงต่อความเป็นพิษของสารทั้งสองชนิดจากการได้รับสัมผัสจากการรับประทานอาหารทะเลของประชาชนทั่วไปยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ตลอดจนปริมาณการได้รับสัมผัสของประชากรไทยทั่วไปโดยใช้ดัชนีชี้วัดการได้รับสัมผัสปริมาณการสะสมของสารทั้งสองชนิดในเลือดยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามการเฝ้าระวังติดตามสถานณ์การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อาหาร และการได้รับสัมผัสของประชากรไทยยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และทุกภาคส่วนควรให้การสนับสนุนในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารมลพิษตกค้างยาวนานเหล่านี้ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  • Boontanon, S.K., Kunacheva, C., Boontanon, N., Musirat, N., Fujii, S., Tanaka, S., 2012. Occurrence of perfluorooctane sulfonate in the water environment of Bangkok, Thailand. J. Environ. Chem. Eng. 139, 588-593.
  • Chen, W.L., Bai, F.Y., Chang, Y.C., Chen, P.C., Chen, C.Y., 2018. Concentrations of perfluoroalkyl substances in foods and the dietary exposure among Taiwan general population and pregnant women. J. Food Drug Anal. 26, 994-1004.
  • Domingo, J.L., Ericson-Jogsten, I., Perello, G., Nadal, M., Van Bavel, B., Karrman, A., 2012. Human exposure to perfluorinated compounds in Catalonia, Spain: Contribution of drinking water and fish and shellfish. J. Agric. Food Chem. 60, 4408-4415.
  • Eriksen, K. T., Raaschou-Nielsen, O., McLaughlin, J. K., Lipworth, L., Tjønneland, A., Overvad, K., Sørensen, M., 2013. Association between plasma PFOA and PFOS levels and total cholesterol in a middle-aged Danish population. PLoS One. 8, e56969.
  • Grandjean, P., Andersen, E.W., Budtz-Jorgensen, E., Nielsen, F., Molbak, K., Weihe, P., Heilmann, C., 2012. Serum vaccine antibody concentrations in children exposed to perfluorinated compounds. JAMA. 307, 391-397.
  • Habibullah-Al-Mamun, M., Ahmed, M.K., Raknuzzaman, M., Islam, M.S., Ali, M.M., Tokumura, M., Masunaga, S., 2017. Occurrence and assessment of perfluoroalkyl acids (PFAAs) in commonly consumed seafood from the coastal area of Bangladesh. Mar. Pollut. Bull. 124, 775-785.
  • Kunacheva, C., Boontanon, S.K., Fujii, S., Tanaka, S., Musirat, C., Artsalee, C., Wongwattana, T., 2009. Contamination of perfluorinated compounds (PFCs) in Chao Phraya River and Bangpakong River, Thailand. Water Sci. Technol. 60, 975-982.
  • Kunacheva, C., Fujii, S., Tanaka, S., Boontanon, S.K., Poothong, S., Wongwatthana, T., Shivakoti, B.R., 2010. Perfluorinated compounds contamination in tap water and bottled water in Bangkok Thailand. J. Water Supply Res. T. 59, 345-354.
  • Lertassavakorn, T.; Pholphanab, N.;  Rangkadilok, N.; Suriyo, T.; Satayavivaad, J. Determination of perfluorooctane sulphonate and perfluorooctanoic acid in seafood and water from Map Ta Phut industrial estate area, Thailand. Food Addit & Contam: Part A 2021, 2; 1-16.
  • Lertassavakorn, T.; Pholphana, N.; Rangkadilok, N.; Suriyo, T.; Teeyapant, P.; Satayavivad, J. Method validation for quantification of PFOS and PFOA in human plasma and a pilot study in blood donors from Thai Red Cross Society. Toxics 2023, 11, 1015.
  • Lewis, R.C., Johns, L.E., Meeker, J.D., 2015. Serum biomarkers of exposure to perfluoroalkyl substances in relation to serum testosterone and measures of thyroid function among adults and adolescents from NHANES 2011–2012. Int. J. Environ. Res. Public Health. 12, 6098-6114.
  • Li, Y., Cheng, Y., Xie, Z., Zeng, F., 2017. Perfluorinated alkyl substances in serum of the southern Chinese general population and potential impact on thyroid hormones. Sci. Rep. 7, 43380.
  • Li, Y., Li, J., Zhang, L., Huang, Z., Liu, Y., Wu, N., He, J., Zhang, Z., Zhang, Y., Niu, Z., 2019. Perfluoroalkyl acids in drinking water of China in 2017: Distribution characteristics, influencing factors and potential risks. Environ. Int. 123, 87-95.
  • Looker, C., Luster, M.I., Calafat, A.M., Johnson, V.J., Burleson, G.R., Burleson, F.G., Fletcher, T., 2014. Influenza vaccine response in adults exposed to perfluorooctanoate and perfluorooctanesulfonate. Toxicol. Sci. 138, 76-88.
  • Olsen, G.W., Burris, J.M., Ehresman, D.J., Froehlich, J.W., Seacat, A.M., Butenhoff, J.L., Zobel, L.R., 2007. Half-life of serum elimination of perfluorooctanesulfonate, perfluorohexanesulfonate, and perfluorooctanoate in retired fluorochemical production workers. Environ. Health Perspect. 115, 1298-1305.
  • Poothong, S., Boontanon, S.K., Boontanon, N., 2012. Determination of perfluorooctane sulfonate and perfluorooctanoic acid in food packaging using liquid chromatography coupled with tandem mass spectrometry. J. Hazard Mater. 205, 139-143.
  • Supreeyasunthorn, P., Boontanon, S.K., Boontanon, N., 2016. Perfluorooctane sulfonate (PFOS) and perfluorooctanoic acid (PFOA) contamination from textiles. J. Environ. Sci. Health A Tox. Hazard Subst. Environ. Eng. 51, 472-477.
  • Zafeiraki, E., Costopoulou, D., Vassiliadou, I., Leondiadis, L., Dassenakis, E., Traag, W., Hoogenboom, R.L., van Leeuwen, S.P., 2015. Determination of perfluoroalkylated substances (PFASs) in drinking water from the Netherlands and Greece. Food Addit. Contam. Part A Chem. Anal. Control Expo. Risk. Assess. 32, 2048-2057.