ถั่วเหลืองในประเทศไทยและสารไกลโฟเสท

ดร.นุชนาถ รังคดิลก, นันทนิจ ผลพนา และ รศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์*
ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (CRI), สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ (CGI)
และศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา

ถั่วเหลืองจัดเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพดีจากพืชซึ่งมีราคาถูก และให้ผลดีต่อสุขภาพเมื่อเทียบกับโปรตีนจากสัตว์หลายชนิด ในถั่วเหลืองจะมีน้ำมัน 20% และมีโปรตีน 40% โดยน้ำหนัก ส่วนที่เหลือจะเป็นคาร์โบไฮเดรต 35% น้ำมันจากถั่วเหลืองจะมีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็น (essential fatty acid) ต่อร่างกาย ได้แก่ กรดลิโนเลอิก (linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า-3 (omega-3 fatty acid) และกรดลิโนเลนิก (linolenic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า-6 (omega-6 fatty acid) ในปริมาณสูง ซึ่งสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ผิวหนัง และจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกและเด็ก จึงเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีวิตามินอี (vitamin E) ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำมัน และมีสารเลซิทิน (lecithin) และสารไฟโตอีสโทรเจน (phytoestrogen) ซึ่งไฟโตอีสโตรเจนที่พบมากในถั่วเหลือง ที่สำคัญคือ ไดซีน (daidzein) และจีนิสทีน (genistein) และเนื่องจากมีปริมาณกรดอะมิโนที่จำเป็นสูง ถั่วเหลืองจึงสามารถนำมาใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ได้ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลายชนิด เพื่อเป็นแหล่งโปรตีน เช่น โปรตีนเกษตร โปรตีนถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์อาหารหมักจากถั่วเหลือง เช่น ซี้อิ้ว เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ถั่วเน่า เป็นต้น (ถั่วเหลือง จากวิกิพีเดีย; จากศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร)

ถั่วเหลืองนับเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการของกลุ่มโรงงานผลิตน้ำมันถั่วเหลือง โรงงานผลิตนมถั่วเหลือง รวมทั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ จึงทำให้ไทยต้องนำเข้าถั่วเหลืองปริมาณมากในแต่ละปี ซึ่งจะมีการนำเข้าจากต่างประเทศและเกือบทั้งหมดประมาณ 80% จะนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ ซึ่งจะเป็นถั่วเหลืองจีเอ็มโอ (GMOs – Genetically Modified Organisms) เกือบทั้งหมด GMOs หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม (ยีน) ซึ่งเป็นผลผลิตจากการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (เทคนิคการตัดต่อยีน) ในพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ เพื่อให้มีคุณสมบัติ หรือคุณลักษณะเฉพาะเจาะจงตามที่ต้องการ สำหรับถั่วเหลือง GMOs ได้รับการดัดแปรพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานยากำจัดวัชพืชประเภทไกลโฟเสท (glyphosate) ซึ่งถั่วเหลือง GMOs นี้ได้รับการปลูกเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาและอาร์เจนตินา

สำหรับในประเทศไทยไม่มีการอนุญาตนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองหรือปลูกถั่วเหลือง GMOs ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าเพื่อทดลองหรือทำการวิจัยในหน่วยงานราชการเท่านั้น เพื่อการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้อนุญาตให้นำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพด โดยนำเข้าถั่วเหลืองจำนวนมากจากสหรัฐอเมริกาและอาร์เจนตินา ซึ่งถั่วเหลืองที่นำเข้าจาก 2 ประเทศนี้ เป็นพืช GMOs 100%  ถั่วเหลืองที่นำเข้ามาจะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองสำหรับการบริโภค เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง ซีอิ้ว เต้าเจี๊ยว และกากถั่วเหลืองก็จะเอาไปทำอาหารสัตว์ในการ เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เป็นต้น

จากข่าวในหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 เรื่อง “แฉ ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ ตัวก่อ 22 โรคร้าย” ได้รายงานว่า มีการศึกษาใน ปี ค.ศ. 2014 ของคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มมีการใช้ถั่วเหลือง GMOs อย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1996 จนถึงปัจจุบันมีความสอดคล้องกับการเกิดโรคสมัยใหม่ 22 กลุ่มโรคเพิ่มขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง อัลไซเมอร์ สมองเสื่อม กล้ามเนื้ออ่อนแรง อุจจาระร่วง ไตวาย เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์พบว่า สาเหตุหลักเกิดจากการตกค้างของสารเคมีที่ใช้เป็นยากำจัดวัชพืชในถั่วเหลือง GMOs

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาของคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาที่กล่าวถึง เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ ที่มีรายงาน โดยไม่ได้เป็นการวิจัยซึ่งมีการระบุโดยตรงว่า สารไกลโฟเสทเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังชนิดต่างๆ ดังกล่าว เพียงแต่เป็นการให้ข้อเสนอแนะจากการรวบรวมข้อมูลที่มีรายงานว่า สารไกลโฟเสทอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง

นอกจากนี้ในข่าวยังระบุอีกว่า ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคถั่วเหลืองในปริมาณมาก ได้มีการนำถั่วเหลือง GMOs ที่นำเข้าในประเทศไปทำการทดสอบ รวมทั้งน้ำมันถั่วเหลืองและซีอิ๊วขาว ซึ่งก็พบว่ามีการตกค้างของสารไกลโฟเสทในผลิตภัณฑ์เหล่านี้จริงๆ จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า ‘แล้วถั่วเหลือง GMOs ที่นำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อนำไปผลิตอาหารสำหรับการบริโภค จะมีการปนเปื้อนสารไกลโฟเสทบ้างหรือไม่?’ และ ‘ปริมาณที่พบยังอยู่ในค่ามาตรฐานการปนเปื้อนหรือไม่?’

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และพิษวิทยา (Center of Excellence on Environmental Health and Toxicology; EHT) ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทำการสุ่มตัวอย่างเมล็ดถั่วเหลืองที่มีจำหน่ายในท้องตลาดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (24 ตัวอย่าง) รวมทั้งตัวอย่างถั่วเหลืองจากประเทศเนปาล (5 ตัวอย่าง) และกากถั่วเหลือง (2 ตัวอย่าง จากบราซิลและสหรัฐอเมริกา และ 1 ตัวอย่างจากอินเดีย) มาทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณไกลโฟเสท โดยวิธี Derivatization กับสาร 9-Fluororenyl methyl chloro-formate (FMOC-Cl) แล้วทำการตรวจวิเคราะห์ด้วย High Performance Liquid Chromatography (Fluorescence detector) (Hogendoorn et al., 1999) ส่วนตัวอย่างกากถั่วเหลืองใช้เทคนิค High Performance Liquid Chromatography – Mass Spectrometry (LC-MS/MS) (Botero-Coy et al., 2013) ซึ่งจะทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณไกลโฟเสทและสารเมตาโบไลท์ (Aminomethylphosphonic acid; AMPA)

ผลที่ได้พบว่า ตัวอย่างถั่วเหลืองในประเทศไทย (24 ตัวอย่าง) มีปริมาณไกลโฟเสท 0.24-5.06 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ตารางที่ 1) ส่วนตัวอย่างถั่วเหลืองจากประเทศเนปาล (5 ตัวอย่าง) มีปริมาณไกลโฟเสทน้อยกว่า ซึ่งเท่ากับ 0.23-0.99 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อวิเคราะห์ตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างที่สุ่มมาตรวจมีตัวอย่างนมผงถั่วเหลือง 3 ตัวอย่าง (SB-08, 18, 19) ตรวจพบไกลโฟเสทประมาณ 0.58-2.22 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (SB-19 มีปริมาณไกลโฟเสทสูงที่สุด) นอกจากนี้จากตัวอย่างที่ระบุว่าเป็นถั่วเหลืองอินทรีย์ (organic soybean; SB-03, 20) หรือ pesticide free (SB-11, 12) ตรวจพบปริมาณไกลโฟเสทในปริมาณน้อยที่สุดที่ 0.24 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (SB-12) และพบมากที่สุดเท่ากับ 1.63 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (SB-03)

ตารางที่ 1 ปริมาณสารไกลโฟเสท ในถั่วเหลืองที่มีจำหน่ายในประเทศไทย และนำเข้าจากประเทศเนปาล

สำหรับผลการวิเคราะห์กากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งระบุว่าเป็นตัวอย่างถั่วเหลือง GMOs 2 ตัวอย่าง พบว่า มีปริมาณไกลโฟเสทเพียง 0.12-0.98 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และมี AMPA 0.16-1.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ตารางที่ 2) ซึ่งตัวอย่างที่มีไกลโฟเสทสูงที่สุด คือ ตัวอย่างกากถั่วเหลือง GMOs จากประเทศบราซิล

ตารางที่ 2 ปริมาณสารไกลโฟเสทและ AMPA ในกากถั่วเหลืองที่นำเข้าจากต่างประเทศ

จากการศึกษาของ Bøhn และคณะในปี ค.ศ. 2014 พบว่า ตัวอย่างถั่วเหลืองที่ได้จาก fields/sites ใน Iowa, USA ที่เป็นการปลูกแบบ organic (n=11) และ conventional (n=10) ตรวจไม่พบการตกค้างของสารไกลโฟเสทและ AMPA แต่ตัวอย่างถั่วเหลืองที่เป็น GM (n=10) ตรวจพบสารไกลโฟเสทและ AMPA ในปริมาณเฉลี่ย 3.27 (min-max 0.4-8.8) และ 5.74 (min-max 0.7-10.0) mg/kg ตามลำดับ ซึ่งเป็นปริมาณที่สูง แต่อย่างไรก็ตามปริมาณรวมของสารทั้ง 2 ชนิด ก็ยังมีค่าน้อยกว่า 20 mg/kg

จากข้อมูลที่ได้ของสถาบันฯ (ตารางที่ 1) ปริมาณไกลโฟเสทที่ตรวจพบสูงสุด คือ 5.06 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และมีตัวอย่างเพียง 4 ตัวอย่าง จาก 24 ตัวอย่าง (คิดเป็น 16.6%) ที่มีปริมาณไกลโฟเสทมากกว่า 2.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณของไกลโฟเสทที่ตรวจพบในตัวอย่างถั่วเหลืองในประเทศไทยนี้ยังมีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานสูงสุดที่ยอมรับได้ในถั่วเหลืองที่กำหนดโดยองค์กรต่างๆทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยกำหนดค่า Maximum Residue Limit ไว้ที่ 20 และ 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ (ตารางที่ 3)

ตารางที่ 3 Maximum residue limits (MRL) for glyphosate
defined by FAO/WHO Codex (Cuhra, 2015)

การกำหนดค่าการตกค้างของไกลโฟเสทในถั่วเหลืองได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องมาจากการผลิตถั่วเหลืองที่เป็นพืช GMOs เพื่อให้สามารถทนต่อสารไกลโฟเสทมากขึ้น จึงทำให้ถั่วเหลือง GMOs มีปริมาณการตกค้างของสารไกลโฟเสทเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาผลกระทบต่อผู้บริโภคในแง่ความปลอดภัยของการบริโภคถั่วเหลือง GMOs เหล่านี้น้อยมาก จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ในขณะนี้ทางสถาบันฯ กำลังดำเนินการตรวจวิเคราะห์ปริมาณไกลโฟเสท และ AMPA ที่อาจมีการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น นมถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง ซีอิ๊วขาว และเต้าเจี๊ยว ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ อาจมีการนำเข้าถั่วเหลือง GMOs มาใช้ในขบวนการผลิต จึงอาจมีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ได้ ซึ่งผลการวิเคราะห์จะรายงานให้ทราบโดยเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตามควรมีการบ่งชี้ในฉลากอาหารให้ชัดเจน [ตามกฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การติดฉลากอาหารดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ)] ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นๆมีการใช้ถั่วเหลืองชนิด GMOs ในการผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคได้ตามต้องการ และเพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ การตรวจวิเคราะห์การตกค้างของสารไกลโฟเสท และ AMPA จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วน และต้องอาศัยเทคนิคในการตรวจวิเคราะห์ที่มีความไว และความแม่นยำสูง

หากผู้ผลิตหรือนำเข้าถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์ มีความต้องการที่จะตรวจวิเคราะห์สารไกลโฟเสทในผลิตภัณฑ์ สามารถติดต่อมายังสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ที่ สำนักวิจัย โทรศัพท์ 02-553 8555 ต่อ 8207 หรือที่ piyapol@cri.or.th (คุณปิยพล)

เอกสารอ้างอิง

  1. Bøhn T, Cuhra M, Traavik T, Sanden M, Fagan J, Primicerio R. Compositional differences in soybeans on the market: glyphosate accumulates in Roundup Ready GM soybeans. Food Chemistry. 2014; 153: 207-15.
  2. Botero-Coy AM, Ibáñez M, Sancho JV, Hernández F. Direct liquid chromatography-tandem mass spectrometry determination of underivatized glyphosate in rice, maize and soybean. Journal of Chromatography  A. 2013; 1313:157-65.
  3. Cuhra M. Review of GMO safety assessment studies: Glyphosate residues in Roundup Ready crops is an ignored issue. Environmental Sciences Europe. 2015; 27: 20.
  4. Hogendoorn EA, Ossendrijver FM, Dijkman E, Baumann RA. Rapid determination of glyphosate in cereal samples by means of pre-column derivatisation with 9-fluorenylmethyl chloroformate and coupled-column liquid chromatography with fluorescence detection. Journal of Chromatography  A.  1999; 833(1):67-73.