สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการวิจัยฟ้าทะลายโจรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ราษฎรอย่างอย่างแท้จริงศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ทรงเชิญประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และทรงมอบหมายพระนโยบายให้สถาบันทำโครงการเพื่อสนองพระราชประสงค์ โดยมอบหมายให้สำนักวิจัย/วิชาการ ซึ่งขณะนั้นกำลังจัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพสตรีโดยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขอรับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สำนักวิจัย/วิชาการ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนายาสมุนไพรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีพื้นที่โครงการอยู่ที่หมู่บ้านทับทิมสยาม 05 อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ของสำนักกิจกรรมพิเศษ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โครงการเพิ่มศักยภาพสตรีด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมหลักคือ
1. สาธิตและฝึกอบรมการปลูกสมุนไพรด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ มีการรวมกลุ่มสตรีเพื่อทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ จัดเวรกันดูแลสมุนไพร ประกอบด้วย ฟ้าทะลายโจร ขมิ้น และไพล 2. การเก็บเกี่ยวสมุนไพรและวิธีการอบแห้งที่สะอาดเพื่อบรรจุส่งขายให้โรงพยาบาลที่ใช้สมุนไพร 3. การเตรียมทำยาสมุนไพรที่ปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือน 4. การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสมุนไพร 5. กิจกรรมปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการทำบัญชีครัวเรือน หลังจากจบโครงการ 4 ปี การประเมินผลพบว่า สตรีในหมู่บ้านมีความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกหน่อไม้ฝรั่งซึ่งมีรายได้ดีกว่าปลูกสมุนไพรเนื่องจากการใช้ยาสมุนไพรยังไม่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน สำหรับการปลูกฟ้าทะลายโจรในระยะแรกนั้น เป็นการปลูกเพื่อส่งตัวอย่างฟ้าทะลายโจรให้ห้องปฏิบัติการวิจัย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เพื่อทำการศึกษาวิจัย ฟ้าทะลายโจรมีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะประเทศโซนยุโรปเพื่อรักษาไข้หวัด สถาบันฯ จึงได้ทำการศึกษาในแง่มุมต่างๆ เพิ่มเติม สรุปผลการวิจัยที่ผ่านมา ได้ดังนี้ 1. การพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์และควบคุมปริมาณสารออกฤทธิ์ ในการส่งเสริมการใช้สมุนไพรปัจจัยสำคัญคือ การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ เพราะสมุนไพรที่นำมาใช้ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ จะต้องมีการเพาะปลูก ซึ่งสารสำคัญออกฤทธิ์จะแปรปรวนไปตามระยะเวลาการเก็บเกี่ยว คุณสมบัติของดินและน้ำ ซึ่งในการวิจัยพื้นฐานเบื้องต้น สถาบันได้พัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์สารสำคัญและการสกัดที่ให้ได้สารบริสุทธิ์ เพื่อนำมาใช้เป็นสารมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารออกฤทธิ์ในสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่ปลูกได้ในแต่ละครั้ง จากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบคุณภาพและปริมาณสารออกฤทธิ์ ทำให้ทราบปริมาณสารออกฤทธิ์ในยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรแต่ละแคปซูลที่ผู้บริโภครับประทาน และจากการศึกษาวิจัยพบว่า มีผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่วางจำหน่ายมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานกล่าวคือ ไม่ได้ผลิตในโรงงานผลิตยาที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์เป็นส่วนใหญ่ ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่ผลิตโดยโรงงานที่ได้มาตรฐานจะมีการฉายรังสี เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อนออกจำหน่าย ซึ่งสถาบันได้ทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารออกฤทธิ์ก่อนและหลังการฉายรังสี จะพบว่าปริมาณสารออกฤทธิ์ในฟ้าทะลายโจรไม่มีการเปลี่ยนแปลง รูปที่ 1การเจริญเติบโตของฟ้าทะลายโจรในระยะต่างๆ 2. อาการไม่พึงประสงค์ แพทย์แผนไทยบางท่านได้กล่าวว่า ไม่นิยมใช้ฟ้าทะลายโจร เนื่องจากอาจทำให้ความดันเลือดลดลงได้ เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน ทางสถาบันจึงได้ทำการศึกษาวิจัยและค้นพบว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจรและสารสำคัญบริสุทธิ์บางชนิดอาจทำให้ความดันเลือดลดลงในสัตว์ทดลองได้ นอกจากนี้จากการวิจัยเพื่อดูสภาพความคงตัวของสารออกฤทธิ์ในฟ้าทะลายโจรได้พบว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญอย่างน้อย 4 ชนิด ที่พบปริมาณมากคือ Andrographolide (AP1) และสารออกฤทธิ์ที่มีปริมาณน้อยคือ 14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3), 14-Deoxyandrographolide (AP6) และ Neoandrographolide (AP4) จากการนำตัวอย่างฟ้าทะลายโจร (ผงสมุนไพรหยาบและสารสกัด) มาทำการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงปริมาณสารสำคัญตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษ (ในการเก็บรักษาสมุนไพร) พบว่า ปริมาณของสาร AP1 จะลดลงเล็กน้อย และสาร AP3 จะเพิ่มขึ้น ซึ่งสาร AP3 นี้จะมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดได้ดีกว่าสารอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุของความดันเลือดลดลงได้ สถาบันยังได้ทำการทดลองโดยการเหนี่ยวนำให้หนูมีความดันเลือดสูงด้วยการป้อนสารแคดเมียมคลอไรด์ แล้วให้สาร AP3 แก่หนู พบว่า ทำให้หนูมีความดันเลือดลดลงได้ ดังนั้นการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่หมดอายุหรือผลิตไว้นานมากกว่า 12-18 เดือน อาจจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ที่ใช้ยาเกิดความดันเลือดลดลง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และมีประวัติควบคุมความดันเลือดด้วยยาแผนปัจจุบัน ทำต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมากขึ้น นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยทำการศึกษาความปลอดภัยจากการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในอาสาสมัครปกติ พบว่า อาสาสมัครปกติ ชาย 10 คน หญิง 10 คน ที่ได้รับยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในขนาดที่ใช้รักษาโรคหวัด (มื้อละ 4 แคปซูล, วันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร รวม 12 แคปซูลต่อวัน เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน) มีความดันเลือดลดลงเล็กน้อยเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ไม่มีความแตกต่างจากตอนเริ่มต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3. การศึกษาทางเภสัชวิทยา สถาบันได้ทำการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรและสารบริสุทธิ์จากฟ้าทะลายโจร พบว่า มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาเลเรียในหลอดทดลอง ลดการจับตัวของเกล็ดเลือดในหลอดทดลอง การศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งตับและท่อน้ำดีในหลอดทดลอง และทำการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของการรับประทานยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในอาสาสมัครปกติ และขณะนี้กำลังทำการศึกษาพิษวิทยาของสารสกัดต้นอ่อนฟ้าทะลายโจร เพื่อประเมินความปลอดภัยก่อนการนำมาใช้ในผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีต่อไป ผลงานวิจัยต่างๆ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ จากข่าวกรณีพบอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับการใช้ฟ้าทะลายโจรที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อไม่กี่วันนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับการใช้ยาทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นยาสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้เพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น แต่มิได้หมายความว่ายาชนิดนั้นๆ จะไม่สามารถนำมาใช้ได้ ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีการใช้อย่างกว้างขวางในต่างประเทศ ในการรักษาโรคหวัด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาได้เฉพาะเจาะจง ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ลดไข้ ลดน้ำมูก เป็นต้น ผู้ที่เคยใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรอยู่และไม่มีอาการแพ้ก็สามารถที่จะใช้ได้ต่อไป และควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยา และข้อสำคัญ คือ ควรเลือกใช้แต่ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีคุณภาพและไม่เก็บไว้นานมาก หรือหมดอายุแล้ว หากหน่วยงานหรือผู้ผลิตฟ้าทะลายโจรรายใดต้องการทราบปริมาณสารออกฤทธิ์ในวัตถุดิบ/ผลิตภัณฑ์ ทางสถาบันยินดีให้บริการตรวจสอบคุณภาพฟ้าทะลายโจร ซึ่งจะทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ 4 ชนิด โดยใช้เทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) สามารถติดต่อ คุณปิยพล มั่นปิยมิตร สำนักวิจัย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (เบอร์ติดต่อ 0 2553 8570) ผลงานวิจัยตีพิมพ์
|