ปริมาณของสารหนูในข้าว

ดร. นุชนาถ รังคดิลก และ รองศาสตราจารย์ ดร. จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2555 ที่ผ่านมานี้ ได้มีโอกาสไปเดินดูงาน “เกษตรมหัศจรรย์ ครั้งที่ 3” จัดโดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและเส้นทางเศรษฐีในเครือมติชน ซึ่งจัดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางแค ในปีนี้ได้จัดงานภายใต้แนวคิดหลัก “ข้าวของพ่อ วิถีพอเพียง” ซึ่งมีการนำพันธุ์ข้าวและพืชหายากต่างๆมาแสดงและจำหน่ายให้ประชาชนที่สนใจจำนวนมาก พันธุ์ข้าวที่นำมาแสดงและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เช่น ข้าวสินเหล็ก ข้าวไรซ์เบอรี่ และข้าวลืมผัว เป็นต้น ข้าวเหล่านี้เป็นข้าวที่มีสีม่วงเข้ม ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นข้าวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและธาตุอาหารสูงกว่าข้าวขาวธรรมดา จากข้อมูลที่ได้ในงาน พบว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวได้เป็นอันดับ 6 ของโลก แต่สามารถส่งออกขายเป็นอันดับ 1 ของโลก ข้าวที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั่วโลกและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ก็คือ ข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี มีมูลค่าการส่งออกปีละกว่า 200,000 ล้านบาท

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้าวไทยที่ส่งออกไปขายยังประเทศต่างๆเป็นข้าวที่ได้มาตรฐานทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย เมื่อเร็วๆนี้ได้มีบทความในหนังสือพิมพ์หลายฉบับพูดถึงการวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของสารหนูในข้าวไทย โดยเฉพาะวิธีการตรวจวิเคราะห์สารหนูที่ได้มาตรฐานและการกำหนดค่าของสารหนูอนินทรีย์ซึ่งมีความเป็นพิษมากกว่าสารหนูทั้งหมด สารหนูอนินทรีย์ (Inorganic arsenic) เป็นสารอันตราย และสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ Smith และคณะ (1992) รายงานว่า สารหนูเป็นสาเหตุของมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งที่ไตและกระเพาะปัสสาวะได้ มีการศึกษาประชากรในประเทศไต้หวันที่อาศัยบริเวณที่มีการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำดื่มสูง พบว่า ปริมาณสารหนูในน้ำดื่มมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญกับอัตราการตายของผู้ป่วยมะเร็งของอวัยวะภายใน (Chen et al., 1992) และจากการศึกษาอย่างต่อเนื่องของคณะนักวิจัยกลุ่มเดียวกันในประเทศไต้หวันในปี 2010 พบว่า การได้รับสารหนู ถึงแม้ว่าจะเป็นปริมาณน้อย แต่ได้รับเป็นระยะเวลานานตั้งแต่เกิดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น (Chen et al., 2010) สารหนูเป็นธาตุกึ่งโลหะ พบได้ในธรรมชาติ การเผาถ่านหิน การถลุงแร่ การผลิตสี เป็นต้น แล้วสารหนูที่ปนเปื้อนในข้าวมาได้อย่างไร การปนเปื้อนของสารหนูในข้าวมาจากพื้นดินและแหล่งน้ำที่ใช้เพาะปลูก ปุ๋ยที่ใช้ สารกำจัดศัตรูพืชต่างๆ ชนิดหรือสายพันธุ์ข้าวเอง ก็เป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากข้าวแต่ละชนิดมีความสามารถในการดูดซึมและสะสมสารหนูได้ต่างกัน

จากการศึกษาปริมาณสารหนูในข้าวขาว (39 ตัวอย่าง) และข้าวกล้อง (45 ตัวอย่าง) ที่เก็บมาจากหลายที่ทั้งซุปเปอร์มาเกต, แปลงทดลอง, นาข้าว ของ Meharg และคณะ ในปี 2008 พบว่า ข้าวกล้องมีปริมาณสารหนูอนินทรีย์สูงกว่าข้าวขาว และปริมาณของ Dimethylarsenic (DMA) ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณของสารหนูทั้งหมด (Total arsenic) ที่เพิ่มขึ้นด้วย ต่อมา Meharg และคณะ (2009) ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารหนูในข้าวขาวขัดสีที่ได้จาก 10 ประเทศ (4 ทวีป) รวมทั้งข้าวจากประเทศไทยด้วย พบว่า ตัวอย่างข้าวจากประเทศอียิปต์และอินเดียมีปริมาณเฉลี่ยของสารหนูทั้งหมดต่ำที่สุด (0.04 และ 0.07 mg/kg ตามลำดับ) และข้าวจากประเทศอเมริกาและฝรั่งเศสมีปริมาณสารหนูทั้งหมดสูงที่สุด (0.25 และ 0.28 mg/kg ตามลำดับ) ส่วนข้าวขาวจากประเทศไทย (54 ตัวอย่าง) มีปริมาณสารหนูทั้งหมด 0.14 mg/kg (0.01-0.39 mg/kg) สารหนูที่ตรวจพบในข้าวส่วนใหญ่อยู่ในรูปสารหนูอนินทรีย์และสารหนูอินทรีย์ Dimethylarsenic acid (DMA) เช่น ข้าวจากบังคลาเทศมีปริมาณสารหนูรวม 0.13 mg/kg และเป็นสารหนูอนินทรีย์ 0.08 mg/kg ในประเทศบราซิล Batista และคณะ (2011) ได้มีการสุ่มตัวอย่างข้าวชนิดต่างๆจำนวน 44 ตัวอย่าง (ข้าวขาว, ข้าวกล้อง, ข้าวอินทรีย์) มาตรวจวัดปริมาณสารหนู ซึ่งพบว่า ปริมาณสารหนูทั้งหมดเป็น 0.22 mg/kg โดยรูปแบบของสารหนูที่ตรวจพบมากที่สุด ได้แก่ As3+(39.7%), As5+(17.8%) และ DMA (38.7%) การบริโภคข้าวนี้ 88 g จะทำให้ได้รับสารหนูอนินทรีย์ต่อวันประมาณ 10% ของค่าสารหนูที่จะได้รับต่อวันซึ่งยินยอมได้ (Provisional Tolerable Daily Intake – PTDI) นอกจากนี้ Adomako และคณะ (2011) ได้เก็บตัวอย่างข้าว, ข้าวโพด, ข้าวสาลี, ข้างฟ่าง จากตลาดในประเทศกาน่า, ยุโรป, อเมริกา และเอเชีย (21 ประเทศ, 5 ทวีป) มาตรวจวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารและโลหะที่เป็นพิษ พบว่า ข้าวจากประเทศกาน่ามีปริมาณโลหะที่เป็นพิษต่ำ แต่มีปริมาณธาตุอาหารสูง ส่วนปริมาณสารหนูในข้าว พบว่า ข้าวจากประเทศอเมริกามีปริมาณสารหนูทั้งหมดสูงกว่า (0.22 mg/kg) ข้าวจากประเทศไทย (0.15 mg/kg) และข้าวจากประเทศกาน่า (0.11 mg/kg) แต่ข้าวจากประเทศกาน่าจะมีปริมาณสารหนูอนินทรีย์สูงถึง 83% (ข้าวอเมริกา 42% และข้าวไทย 67%) ส่วนปริมาณสารหนูรวมในตัวอย่างข้าวชนิดอื่นๆ มีเพียง 0.01 mg/kg เท่านั้น และเมื่อเร็วๆนี้ Rezaitabar และคณะ (2012) ได้ตรวจวัดปริมาณสารหนูในข้าวหลายสายพันธุ์ทั้งที่นำเข้ามาในอิหร่านและที่ปลูกในประเทศเอง ผลการวิเคราะห์พบว่า ปริมาณสารหนูทั้งหมดในข้าวที่นำเข้า, ข้าวที่ปลูกในนา และดิน เป็น 0.28, 0.39 และ 3.80 mg/kg ตามลำดับ ซึ่งถ้าประมาณการได้รับสารหนูเข้าไปในร่างกายผ่านการบริโภคข้าวที่นำเข้ามาและข้าวที่ปลูกเองจะได้เป็น 0.77 และ 1.074 μg/day/kg BW ซึ่งค่าที่ได้รับนี้ก็ยังต่ำกว่าค่า PTDI ที่กำหนดโดย Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives (JECFA) 2.14 μg/day/kg BW

จากการศึกษาในประเทศจีนโดย Li และคณะ (2011) พบว่า สำหรับประชากรจีนทั่วไป จะได้รับปริมาณสารหนูอนินทรีย์ต่อวันประมาณ 42 μg และข้าวถือเป็นแหล่งของสารหนูอนินทรีย์ที่มากที่สุด (60%) ซึ่งสารหนูอนินทรีย์ที่ได้รับเข้าไปนี้ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งได้

จะเห็นได้ว่าข้าวเป็นแหล่งของสารหนูที่สามารถเข้าสู่ร่างกายของผู้บริโภคได้มากที่สุด และ สารหนูอนินทรีย์ซึ่งเป็นสารอันตรายก็มีปริมาณมากในข้าว จากรายงานที่ผ่านมาพบว่า ตัวอย่างข้าวไทยมีปริมาณสารหนูน้อยกว่า 0.2 mg/kg ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับข้าวจากอเมริกาหรือยุโรป แต่ส่วนใหญ่การตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารหนูในปัจจุบันมักจะตรวจกันในรูปแบบของสารหนูทั้งหมด (สารหนูอินทรีย์และสารหนูอนินทรีย์) ซึ่งจะไม่สามารแยกได้ว่ามีปริมาณสารหนูอนินทรีย์ที่อันตรายมากน้อยเท่าใด ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่เราควรจะมีวิธีการตรวจวัดปริมาณสารหนูอนินทรีย์ที่ได้มาตรฐานและมีความแน่นอน สามารถทำได้รวดเร็ว จึงจะทำให้เกิดความแน่ใจในข้าวไทยทั้งที่ส่งออกและนำมาโภคในประเทศว่า มีความปลอดภัยและสามารถบริโภคได้อย่างมั่นใจ

แหล่งข้อมูล:

  • Adomako, E.E., Williams, P.N., Deacon, C., Meharg, A.A. 2011. Inorgaqnic arsenic and trace elements in Ghanaian grain staples. Environ. Pollut. 159: 2435-2442.
  • Basista, B.L., Souza, J.M., De Souza, S.S., Barbosa, F. Jr. 2011. Speciation of arsenic in rice and estimation of daily intake of different arsenic species by Brazilians through rice consumption. J. Hazard Mater. 191: 342-348.
  • Chen, C.L., Chiou, H.Y., Hsu, L.I., Hsueh, Y.M., Wu, M.M., Wang, Y.H., Chen, C.J. 2010. Arsenic in drinking water and risk of urinary tract cancer: A follow-up study from Northeastern Taiwan. Cancer Epidemiol. Biomarkers Prev. 19: 101-110.
  • Chen, C.J., Chen, C.W., Wu, M.M., Kuo, T.L. 1992. Cancer potential in liver, lung, bladder and kidney due to ingested inorganic arsenic in drinking water. Br. J. Cancer. 66: 888-892.
  • Meharg, A.A., Lombi, E., Williams, P.N., Scheckel, K.G., Feldmann, J., Raab, A., Zhu, Y., Islam, R. 2008. Speciation and localization of arsenic in white and brown grains. Environ. Sci. Technol. 42: 1051-1057.
  • Meharg, A.A., Williams, P.N., Aldomako, E., Lawgali, Y.Y., Deacom, C., Villada, A., Cambell, R.C.J., Sun, G., Zhu, Y.G., Feldmann, J., Raab, A., Zhao, F.J., Islam, R. Hossain, S., Yanai, J. 2009. Geographical variation in total and inorganic arsenic content of polished (white) rice. Environ. Sci. Technol. 43: 1612-1617.
  • Rezaitabar, S., Esmaili-Sari, A., Bahramifar, N. 2012. Potential health risk of total arsenic from consumption of farm rice (Oryza sativa) from the southern Caspain Sea Littoral and from imported rice in Iran. Bull Environ. Contam. Toxicol. (online Feb 10, 2012).
  • Smith, A.H., Hopenhayn-Rich, C., Bates, M.N., Goeden, H.M., Hertz-Picciotto, I., Duggan, H.M., Wood, R., Kosnett, M.J., Smith, M.T. 1992. Cancer risks from arsenic in drinking water. Environ. Health Perspect. 97: 259-267.