การตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะต่างๆ ในอาหารสำหรับเด็กอ่อน และอาหารเสริมจากธรรมชาติอื่นๆในประเทศไทย

ดร. นุชนาถ รังคดิลก
ห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และ
สถาบันบันฑิตศึกษาจุฬาภรณ์

ปัจจุบันมีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีอื่นๆ เพื่อช่วยในการเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตรให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จึงเป็นสาเหตุให้มีการปนเปื้อนของโลหะหนักที่มาจากปุ๋ยและสารเคมีเหล่านี้เข้าไปในผลผลิตทางการเกษตรที่นำมาใช้เป็นอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารสำหรับเด็ก ซึ่งเมื่อเด็กได้รับปริมาณโลหะหนักเหล่านี้เข้าไปสะสมในร่างกายในปริมาณมากแล้ว ก็จะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่เปลี่ยนไป และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณธาตุและโลหะหนัก (Mg, Ca, Mn, Fe, Cu, Zn, V, Cr, Co, Ni, Se, Mo, Sr, Al, As, Cd, Hg, and Pb) ในอาหารชนิดต่างๆ จำนวน 667 ตัวอย่าง (ปี 2005-2008) ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์อาหารเด็ก ผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลือง น้ำดื่ม ผักชนิดต่างๆ ข้าว กล้วย ไข่ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (เนื้อ ตับ) โดยนำตัวอย่างเหล่านี้มาเติมกรดไนตริกบริสุทธิ์เข้มข้น 65% แล้วทำการย่อยด้วยเครื่องไมโครเวฟ และวิเคราะห์ปริมาณธาตุและโลหะหนักต่างๆด้วยเครื่อง Inductively coupled plasma mass spectrometer (ICP-MS)

ผลการวิจัย พบว่า ปริมาณโลหะหนักที่อันตราย เช่น As และ Cd ในอาหารชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานสูงสุดที่ให้มีได้อาหารนั้นๆ (Maximum Levels – ML) ซึ่งกำหนดโดย CODEX และ European Communities

ตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำกรองตามบ้าน พบว่า มีปริมาณโลหะหนักต่างๆอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่ม ยกเว้น น้ำดื่มบรรจุขวด 1 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณ As เกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (>10 µg/L) แต่ยังน้อยกว่าค่ากำหนดสูงสุดของประเทศไทย (50 µg/L) ส่วนในข้าวและผักชนิดต่างๆ เช่น บล็อคโคลี่ ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักตำลึง ผักกาดขาว ฟักทอง มันฝรั่ง พบว่า ปริมาณการปนเปื้อนของ As, Cd และ Pb อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่ามาตรฐานสูงสุดที่กำหนดไว้ จึงมีความปลอดภัยในการบริโภค นอกจากนี้ยังพบว่า ผักตำลึงซึ่งนิยมทำเป็นแกงจืดสำหรับเด็กมีปริมาณธาตุ Se สูงอีกด้วย และส่วนของใบผักคะน้ามีการสะสมของโลหะหนักสูงกว่าในส่วนของก้านคะน้า สำหรับปริมาณธาตุที่พบในข้าวโดยแบ่งเป็นข้าวกล้อง (non-polished rice) และข้าวขาว (polished rice) พบว่า ปริมาณของธาตุและโลหะหนักต่างๆ เช่น Mg, Ca, Mn, Fe, Se, As, และ Cd ในข้าวกล้องสูงกว่าข้าวขาว ในขณะที่ ปริมาณของ Cu, Cr, Ni, และ Pb ไม่แตกต่างกันในข้าวทั้ง 2 ชนิด แสดงว่า กระบวนการขัดสีของข้าวทำให้แร่ธาตุบางชนิดที่จำเป็นรวมถึงโลหะหนักที่เป็นอันตรายสูญหายไปได้ ซึ่งปริมาณของ Cd ที่พบในข้าวกล้องและข้าวขาวจากการศึกษาครั้งนี้ ยังคงมีปริมาณต่ำกว่าค่ากำหนดสูงสุดที่มีได้ในเมล็ดข้าว (100 µg/kg) จากผลการศึกษาในกล้วย ทั้งกล้วยไข่ กล้วยหอม และกล้วยน้ำว้า พบว่า กล้วยน้ำว้าเป็นกล้วยที่มีปริมาณธาตุ Se สูง ซึ่งสามารถช่วยต่อต้านความชราได้เป็นอย่างดี โดย Se จะทำงานร่วมกับวิตามินอี มีหน้าที่ช่วยรักษาเนื้อเยื่อและเซลล์ต่างๆของร่างกายไม่ให้เสื่อมสภาพไปเร็วนัก ซึ่งมีผลที่ดีกับผิวหนังอย่างเห็นได้ชัด คือ ช่วยต้านความเหี่ยวและริ้วรอย นอกจากนี้กล้วยทั้ง 3 ชนิดนี้ยังมีปริมาณของ Mn ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า สำหรับเนื้อสัตว์ทั้งเนื้อหมูและไก่ พบว่า มีปริมาณของ As และ Cd น้อยกว่าในตับและไต จึงมีความปลอดภัยในการบริโภค ส่วนตับและไตของหมู และตับไก่มีปริมาณของ As และ Cd สูง จึงไม่เหมาะที่จะนำมาปรุงเป็นอาหารโดยเฉพาะสำหรับเด็กบ่อยมากนัก และสำหรับนมถั่วเหลือง พบว่า มีปริมาณ Mn, Cd, Pb และ Al ค่อนข้างสูง ซึ่งถ้าเด็กเล็กได้รับ Mn มากเกินไปจะมีผลต่อพัฒนาการทางสมองและพฤติกรรมการแสดงออกได้ด้วย ส่วนปริมาณของธาตุและโลหะหนักในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็ก ซึ่งมีทั้งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและที่ผลิตในประเทศไทย พบว่า ค่าเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้

จากผลการศึกษาวิจัยที่ได้นี้ สรุปได้ว่า การปนเปื้อนของโลหะหนักบางชนิดที่เป็นอันตราย เช่น As และ Cd ในอาหารส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานสูงสุดที่ให้มีได้ในอาหารนั้นๆ แต่มีอาหารบางชนิดที่เด็กเล็กไม่ควรบริโภคเป็นประจำต่อเนื่อง เช่น เครื่องในสัตว์ นมถั่วเหลือง เนื่องจากอาจมีปริมาณของโลหะหนักบางชนิดสูง ซึ่งถ้าบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีการสะสมของโลหะหนักเหล่านี้ในร่างกายสูง และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

แหล่งข้อมูล:

  • โครงการวิจัยชื่อ “การตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะต่างๆ ในอาหารสำหรับเด็กอ่อนและอาหารเสริมจากธรรมชาติอื่นๆในประเทศไทย” – ระยะเวลาโครงการ: 1 ตุลาคม 2552 – 30 กันยายน 2554