ข้าวไทย…ปลอดภัยจากโลหะที่เป็นอันตราย

ดร.นุชนาถ รังคดิลก สุมลธา หนูคาบแก้ว และ รศ. ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์่

ข้าวไทย…ปลอดภัยจากโลหะที่เป็นอันตราย (Thai rice is safe from the contamination of toxic metals)

จากที่มีผลงานวิจัยของนักวิชาการจากประเทศสหรัฐอเมริกา (มหาวิทยาลัย Monmouth ในรัฐ New Jersey) รายงานว่า ข้าวจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกาใต้ ที่นำเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกามีปริมาณสารตะกั่วปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะทารกและเด็กเล็ก ในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการเก็บตัวอย่างข้าวที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดในสหรัฐอเมริกา ทั้งจากภูฏาน, อิตาลี, จีน, ไต้หวัน, อินเดีย, อิสราเอล, สาธารณรัฐเช็ก และไทย ซึ่งข้าวที่นำเข้าเหล่านี้คิดเป็น 65% ของข้าวทั้งหมดที่สหรัฐนำเข้า มาทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารตะกั่ว ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า ข้าวทั้งหมดมีปริมาณสารตะกั่ว 6-12 มิลลิกรัมต่อข้าว 1 กิโลกรัม โดยข้าวจากจีนและไต้หวัน มีปริมาณสารตะกั่วปนเปื้อนสูงที่สุด หลังจากนั้นประเทศไต้หวัน (Council of Agriculture; COA) ได้ออกมาปฏิเสธว่า จากการตรวจสอบตัวอย่างข้าวบรรจุถุงในทุกปี จำนวน 162 ตัวอย่าง ไม่ตรวจพบปริมาณสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐานที่รัฐบาลไต้หวันกำหนดไว้ (The acceptable level of lead in rice 0.2 mg/kg accordance with the Codex Alimentarius Commission)

ห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และพิษวิทยา (Center of Excellence on Environmental Health and Toxicology; EHT) ได้มีการศึกษาวิจัยเรื่อง ความปลอดภัยและคุณภาพของข้าวไทย โดยทำการสุ่มตัวอย่างข้าวบรรจุถุงชนิดต่างๆที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ตั้งแต่ปี 2550-2556 รวมทั้งข้าวที่ได้จากการที่ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จทรงงานในหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรี นครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ตามจังหวัดในภาคต่างๆทั่วประเทศไทยมาทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะที่เป็นพิษ เช่น สารหนู, แคดเมียม, และตะกั่ว ด้วยเครื่อง Inductively Coupled Plasma Mass Spectrometer (ICP-MS)

ผลการวิเคราะห์ (ตารางที่ 1) พบว่า ข้าวไทย ไม่ว่าจะเป็นชนิดข้าวขาว (รวมข้าวหอมมะลิ จำนวน 181 ตัวอย่าง), ข้าวแดงหรือข้าวกล้อง (จำนวน 77 ตัวอย่าง) หรือข้าวเหนียว (จำนวน 32 ตัวอย่าง) มีปริมาณเฉลี่ยของสารหนู, แคดเมียม, และตะกั่ว อยู่ในปริมาณต่ำกว่าค่าสูงสุดที่ยอมให้มีได้ในข้าวที่กำหนดโดยหน่วยงานของประเทศต่างๆ (ตารางที่ 2) ข้าวแดงหรือข้าวกล้องมีปริมาณสารหนูและตะกั่วเฉลี่ย (0.185 และ 0.032 มิลลิกรัมต่อข้าว 1 กิโลกรัม ตามลำดับ) สูงกว่าข้าวชนิดอื่นๆ ส่วนข้าวเหนียวมีปริมาณแคดเมียมเฉลี่ย (0.024 มิลลิกรัมต่อข้าว 1 กิโลกรัม) มีตัวอย่างข้าวขาว 3 ตัวอย่าง และข้าวแดง/ข้าวกล้อง 7 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณสารหนูเกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อข้าว 1 กิโลกรัม ส่วนปริมาณแคดเมียมในข้าวทุกชนิด พบว่า มีเพียงข้าวขาว 2 ตัวอย่างเท่านั้น ที่มีปริมาณแคดเมียมเกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อข้าว 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบว่า ปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในตัวอย่างข้าวไทยเกือบทั้งหมดมีปริมาณน้อยกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อข้าว 1 กิโลกรัม มีข้าวขาวเพียง 3 ตัวอย่างจาก 181 ตัวอย่าง และข้าวแดง/ข้าวกล้อง 1 ตัวอย่างจาก 79 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณตะกั่วเกินค่าสูงสุดที่กำหนดไว้ (>0.2 มิลลิกรัมต่อข้าว 1 กิโลกรัม) ส่วนปริมาณตะกั่วในข้าวเหนียวที่ตรวจพบสูงสุด คือ 0.097 มิลลิกรัมต่อข้าว 1 กิโลกรัม ซึ่งก็ยังต่ำกว่าค่าสูงสุดที่กำหนดไว้คือ 0.2 มิลลิกรัมต่อข้าว 1 กิโลกรัม ดังนั้นข้าวไทยชนิดต่างๆที่ได้ทำการสุ่มตัวอย่างมานี้ จึงมีความปลอดภัยจากการปนเปื้อนของโลหะที่เป็นอันตรายเหล่านี้ ซึ่งสามารถนำมาบริโภคได้อย่างสบายใจและสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆได้

ตารางที่ 1 ปริมาณสารหนู (Arsenic), แคดเมียม (Cadmium) และตะกั่ว (Lead) ในข้าวชนิดต่างๆที่มีจำหน่ายในประเทศไทย และตามจังหวัดภาคต่างๆของประเทศไทย (mean±S.E.) (mg/kg)

ชนิดข้าว
(ปี 2550-2556)
สารหนู
(Arsenic; As)
แคดเมียม
(Cadmium; Cd)
ตะกั่ว
(Lead; Pb)
1. ข้าวขาว (n=181) 0.139±0.005
(<0.008-0.702)
0.013±0.002
(<0.008-0.266)
<0.025
(<0.025-0.702)
2. ข้าวแดงและข้าวกล้อง (n=77) 0.177±0.010
(<0.008-0.358)
0.016±0.002
(<0.008-0.084)
0.025±0.013
(<0.025-0.947)
3. ข้าวเหนียวขาว (n=32) 0.094±0.006
(0.037-0.166)
0.024±0.004
(<0.008-0.096)
<0.025
(<0.025-0.097)
Joint FAO/WHO Food Standards Programme Codex Committee on Contaminants in Foods (1999) 0.3 0.4 0.2

– ค่าในวงเล็บ คือ ค่าน้อยสุด-ค่าสูงสุด

– Detection limit for arsenic (As) = 0.008 mg/kg; cadmium (Cd) = 0.008 mg/kg; lead (Pb) = 0.025 mg/kg

ตารางที่ 2 ค่ามาตรฐานของสารหนู (Arsenic), แคดเมียม (Cadmium) และตะกั่ว (Lead) ที่ยอมรับให้มีได้ในตัวอย่างข้าว และผลิตภัณฑ์จากข้าว

Country Regulatory Authorities Maximum Level
Australia and New Zealand Food Standard Australia New Zealand 1 mg/kg for total As (cereals)
0.1 mg/kg for Cd(rice)
0.2 mg/kg for Pb (cereals)
China Ministry of Health 0.15 mg/kg inorganic As in rice and rice products (will be adjusted to 0.2 mg/kg)
0.2 mg/kg for Pb (rice)
India 1.1 mg/kg for total As (rice only?)
Mercosur Economic Block Composed by Argentina, Brazil, Paraguay, Uruguay 0.3 mg/kg for total As (in rice)
Singapore Agri-Food and Veterinary Authority 1 mg/kg for total As (other food not given ML specific)
UK Food Standard Agency 1 mg/kg for total As (all food, not given ML specific)
Joint FAO/WHO Food Standards Programme Codex Committee on Contaminants in Foods (1999) Codex Alimentarius Commission, World Health Organization 0.3 mg/kg (whether inorganic Asor total As)
0.4 mg/kg for Cd (rice polished)
0.2 mg/kg for Pb (cereal products)

As = Arsenic; Cd = Cadmium; Pb = Lead

หมายเหตุ: สำหรับรายละเอียดข้อมูลของงานวิจัยบางส่วนสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ดังต่่อไปนี้
1. ความปลอดภัยในการบริโภคอาหารเช้า
2. การปนเปื้อนสารหนูในข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว
3. ปริมาณของสารหนูในข้าว